สศอ.เผยดัชนี MPI ส.ค.ขยายตัว 14.52%YoY, 8 เดือนโต 2.72%

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.65 อยู่ที่ระดับ 99.28 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ดัชนี MPI เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 99.81 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือน ส.ค.65 อยู่ที่ระดับ 63.78% เพิ่มขึ้นจากระดับ 60.77% ในเดือน ก.ค.65 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วง 8 เดือนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.43%

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน ส.ค.65 ได้แก่ ผลของฐานต่ำ เนื่องจากในปีก่อนเป็นช่วงที่มีการระบาดค่อนข้างรุนแรง มีการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีการติดเชื้อในสถานประกอบการค่อนข้างมาก ขณะที่ปีนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังคงทยอยปรับตัวดีขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีฯ ในเดือน ส.ค.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

  • ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 63.37% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก หลังมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โรงงานต้องปิดชั่วคราว และมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่
  • น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.60% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 54.62% ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบรองรับงานแสดงสินค้าที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย.ปีนี้ โรงงานสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ ขณะที่ปีก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.61% จากผลิตภัณฑ์ integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก หลังจากได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ
  • จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 131.01% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการผลิตในเดือน ก.ย.65 ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ และผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.65 นั้น คาดว่า ภาคการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการบริโภคในประเทศ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มตามการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว แต่ผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ย แต่มีปัจจัยต่างประเทศที่ส่งสัญญาณไม่ปกติ ได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ข้อพิพาทระหว่างประเทศ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของตลาดหลัก คือ สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป โดยมีเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ ปัญหาเงินบาทอ่อนค่าที่ส่งผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบ, ปัญหาขาดแคลนชิป, ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top