คลัง วางแนวทางสำหรับผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ติดตามคู่สมรสไม่ได้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในแนวทางการดำเนินการ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ ตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. กลุ่มของผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรส แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.1 ผู้ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป นับถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565) ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้

1.2 ผู้ลงทะเบียนกลุ่มทั่วไป ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้

2. แนวปฏิบัติสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้

2.1 ผู้ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง จะต้องดำเนินการโดยยื่นแบบฟอร์มลงทะเบียน พร้อมหนังสือประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ โดยต้องลายมือชื่อของผู้ลงทะเบียน ลายมือชื่อของพยานรับรองจำนวน 2 คน รวมถึงต้องมีการลงนามรับรองจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่เป็นผู้รับรองว่า ผู้ลงทะเบียนเป็นบุคคลที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ และเอกสารประกอบการลงทะเบียนอื่น ๆ (กรณีมีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี) และผู้ลงทะเบียนจะต้องนำเอกสารทั้งหมดไปยื่น ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอหรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองและเทศบาลนครในพื้นที่ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตที่ผู้อำนวยการเขตมอบหมาย เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเมืองพัทยา

ทั้งนี้ หากผู้ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งกระทรวงการคลังจะประกาศให้ทราบต่อไป ผู้ลงทะเบียนจะสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ได้ โดยต้องไปยืนยันตัวตน ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ (ภายในระยะเวลา 180 วัน) และธนาคารกรุงไทย (ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด)

2.2 ผู้ลงทะเบียนกลุ่มทั่วไป จะต้องดำเนินการโดยยื่นแบบฟอร์มการลงทะเบียน พร้อมหนังสือประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ โดยต้องลายมือชื่อของผู้ลงทะเบียน ลายมือชื่อของพยานรับรองจำนวน 2 คน และเอกสารประกอบการลงทะเบียนอื่น ๆ (กรณีที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี) และผู้ลงทะเบียนจะต้องนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นณ หน่วยงานรับลงทะเบียน

ทั้งนี้ หากผู้ลงทะเบียนกลุ่มทั่วไปผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ ผู้ลงทะเบียนจะต้องนำใบสำคัญการหย่าหรือเอกสารอื่นใดที่คณะกรรมการฯ กำหนดมาแสดงและยืนยันตัวตน ณ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ได้ตั้งแต่วันที่ประกาศผลผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ (ภายในระยะเวลา 180 วัน) และธนาคารกรุงไทย (ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด) จึงจะสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ได้ โดยผู้ลงทะเบียนกลุ่มทั่วไป จะต้องนำใบสำคัญการหย่าหรือเอกสารอื่นใดที่คณะกรรมการฯ กำหนด มาแสดงให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติจึงจะสามารถใช้สิทธิ์ตามโครงการฯ ได้

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดหนังสือประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการฯ ได้จากเว็บไซต์ของโครงการฯ ได้ที่ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th หรือติดต่อขอรับจากหน่วยงานรับลงทะเบียนทุกหน่วยทั่วประทศ

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการสำหรับผู้ลงทะเบียนโครงการฯ ที่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสได้ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทะเบียนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการลงทะเบียนจาก “วันที่ 5 กันยายน – 19 ตุลาคม 2565” เป็น “วันที่ 5 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565”

ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถศึกษารายละเอียดการดำเนินโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top