พาณิชย์ เผย 10 เดือนแรกปีนี้ ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 1 แสนลบ. เพิ่ม 72%

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกปี 65 (ม.ค.-ต.ค.) คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 480 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 299 ราย เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,437 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 4,635 คน

สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 125 ราย คิดเป็น 26% เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท สิงคโปร์ 75 ราย คิดเป็น 16% เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 64 ราย คิดเป็น 13% เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท ฮ่องกง 35 ราย คิดเป็น 7% เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท และจีน 22 ราย คิดเป็น 5% เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 64 (ม.ค.-ต.ค.) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 34 ราย คิดเป็น 8% (ปี 65 อนุญาต 480 ราย ปี 64 อนุญาต 446 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,469 ล้านบาท คิดเป็น 72% (ปี 65 ลงทุน 106,437 ล้านบาท ปี 64 ลงทุน 61,968 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 352 คน คิดเป็น 8% (ปี 65 จ้างงาน 4,635 คน ปี 64 จ้างงาน 4,283 คน) โดยปี 64 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 65

รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 65) ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ

– บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

– บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

– บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

– บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษา เชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น

– บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ

– บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนม.ค.-ต.ค. 65 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 94 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 44,948 ล้านบาท คิดเป็น 42% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 24,326 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,006 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 7 ราย ลงทุน 1,075 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1. บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ 2. บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3. บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นต้น

รมช.พาณิชย์ คาดว่า อีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ย.-ธ.ค. 65) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนต.ค. 65 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 44 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 17 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 27 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,059 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 594 คน

ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยนอกชายฝั่งและการควบคุมหลุมขุดเจาะ องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบควบคุม และการอำนวยความสะดวกการจราจรในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการติดตั้งแม่พิมพ์ในเครื่องฉีดชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

– บริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

– บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ดัดแปลง ตรวจสอบ ทดสอบ ทดลองระบบ เชื่อมระบบฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับศูนย์ปฏิบัติการจราจร สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบ และพัฒนาซอฟต์แวร์ การแก้ไขปัญหาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ การติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมระบบซอฟต์แวร์ การให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น

– บริการพัฒนา ENTERPRISE SOFTWARE

– บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top