อนุสรณ์ มองศก.ไทย Q4 ฟื้นชัดเจน แนวโน้มเกินดุลบัญชีฯ ลุ้นปลายปีบาทแตะ 34

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 มีแนวโน้มขยายตัวแบบเร่งตัวขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เกือบ 4% หรือสูงกว่า 4% เล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2565 มีโอกาสขยายตัวอยู่ที่ 3.3-3.4% สูงกว่าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินไว้ล่าสุดที่ 3.2%

โดยมองว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/65 ไม่ได้มีเฉพาะภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวเท่านั้น ภาคการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของเอกชน ภาคการลงทุนของเอกชนก็มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง โดยในการอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงถึง 9% ในไตรมาส 3/65 การลงทุนที่เป็น Gross fixed capital formation ขยายตัว 5.2% การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง เหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/65 มีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 4%

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 11-12% ของ GDP หากประเทศไทยทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นกลับคืนมาได้มากกว่า 80% ของรายได้ท่องเที่ยวในปี 2562 ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นฐานของการเติบโตในปี 2566 ในขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินอาจเข้มงวดขึ้น หากมีสัญญาณของเงินเฟ้อจากอุปสงค์เร่งตัวมากขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกชะลอตัวลง แรงกดดันเงินเฟ้อจากปัจจัยด้านอุปทาน และราคาพลังงานลดลงอย่างชัดเจน

นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า อัตราการขยายตัวของประเทศ Emerging and Developing Asia ที่สูงกว่าทุกภูมิภาคที่ระดับ 4.9% จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทแข็งค่าขึ้น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดใน 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ และการพุ่งขึ้นของรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติ จะทำให้เงินบาทในช่วงปลายปีมีโอกาสไปทดสอบระดับ 34 บาท/ดอลลาร์

พร้อมระบุว่า พลวัตของตัวแปรทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงไปของตัวแปรทางการเงินและการลงทุน จำเป็นต้องปรับมุมมองการลงทุนใหม่ ในไตรมาส 4/65 โดยมีความเห็นว่ากลุ่มตราสารหนี้ ควรเลือกการลงทุนอายุการถือครองระยะสั้น หรือ Duration สั้นๆ และเน้นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ในประเทศที่มีฐานะการคลังมั่นคง และภาคเอกชนไม่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกินไป รวมทั้ง Green Bond ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ควรให้น้ำหนักหุ้นกลุ่ม Value มากกว่า กลุ่ม Growth

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดทุนจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ฟื้นตัวในอัตราเร่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินเมื่อปี ค.ศ. 2008 ดังนั้นจึงควรขยายขอบเขตการลงทุนเพื่อผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แทนที่จะถือเงินสด วางพอร์ตการลงทุนให้กระจายตัว กระจายสัดส่วนการลงทุนให้ครอบคลุมทั้งสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสูงไปพร้อมกัน บริหารความเสี่ยงให้สมดุล เลือกลงทุนหุ้นกลุ่มที่ราคายังไม่ตึงตัวมาก เน้นการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องสูง เพื่อสามารถปรับพอร์ตการลงทุนได้รวดเร็วตามความผันผวนของตลาด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top