BA คาดปี 66 พลิกมีกำไรหลังผู้โดยสารฟื้นตัว 80%ก่อนโควิด,ปรับเป้ารายได้ปี 65 แตะ 1 หมื่นลบ.

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลประกอบการในปี 66 จะสามารถกลับมามีกำไรสุทธิได้ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 4.4-4.5 ล้านคน หรือ มีจำนวนผู้โดยสารฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 75-80% เมื่อเทียบกับข่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 62 ที่มีจำนวนผู้โดยสารอยู่กว่า 6 ล้านราย

นอกจากนี้ในปี 66 บริษัทยังได้เตรียมกลับมาเปิดเส้นทางการบินเพิ่มเป็น 30 เส้นทาง ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวัรสโควิด-19 ที่มีเส้นทางบินทั้งหมด 34 เส้นทาง โดยคาดว่าจะเปิดเส้นทางบิน 6 เส้นทางได้แก่ สมุย – ฮ่องกง, สมุย – กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย), สมุย – เฉินตู (จีน) , สมุย-ฉงชิ่ง(จีน) และกลุ่มประเทศ CLMV ในเส้นทาง กรุงเทพฯ – มัณฑะเลย์ (เมียนมา) และ กรุงเทพฯ – ฟูโกว๊ก (เวียดนาม) อย่างไรก็ตาม การเปิดเส้นทางบินและการกลับมาให้บริการในเส้นทางบินต่าง ๆ นั้น บริษัทได้วางกลยุทธ์ และแผนรองรับความเสี่ยงต่างๆ ไว้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเงินเฟ้อ สภาวะความกังวลจากเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก และสถานการณ์ด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่ผันผวน

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทให้บริการในเส้นทางบินกว่า 24 เส้นทาง แบ่งเป็นภายในประเทศ 17 เส้นทาง และระหว่างประเทศ 7 เส้นทาง หลังจากที่ไตรมาส 3/65 ที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ-หาดใหญ่ สมุย- หาดใหญ่ และกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพ – เสียมเรียบ (กัมพูชา), กรุงเทพ – ย่างกุ้ง (เมียนมา) และ กรุงเทพ – ดานัง (เวียดนาม)

“ในปี 66 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้าในปี 66 ให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินกลับเข้าไทย 80% ของปี 62 บริษัทมองว่าเป็นปัจจัยหนุนไปในทุกๆภาคส่วน โดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์สสามารถรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มที่ โดยมีแผนในการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินยอดนิยม การกลับมาให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ในอนาคต”นายพุฒิพงศ์ กล่าว

สำหรับจำนวนฝูงบินของบริษัทในปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 35 ลำ โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้เตรียมที่จะลดจำนวนฝูงบินเหลือ 28-31 ลำ ที่บางลำหมดสัญญาเช่า และทยอยขายออกบางส่วน เพื่อที่จะเป็นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเหมาะสม และ มีจำนวนฝูงบินที่เหมาะสมกับการให้บริการ โดยในปัจจุบัน เครื่องบินใช้งานอยู่ทั้งหมด 23 ลำ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวถึงทิศทางผลการดำเนินงานในปี 65 ว่า บริษัทได้ปรับเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 8,175 ล้านบาท หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาสามารถทำรายได้แล้วกว่า 8,121 ล้านบาท และมีอัตราส่วนขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) 74% ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าอัตราส่วนขนส่งผู้โดยสารที่ระดับ 73 % แล้ว

ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/65 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่า 900,000-1,000,000 ราย ซึ่งจะส่งผลให้ยอดรวมขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.6 ล้านคน หลังจากในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาทำได้แล้วประมาณ 1.7 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนผู้โดยสาร 9 เดือนแรกปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนับเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้สำหรับโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะมีการเริ่มตอกเสาเข็มเฟสแรกได้ภายในช่วงต้นปี 66 หลังที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวล่าช้าไปเกือบ 1 ปี จากผลกระทบของสถานการณ์โคิวิด-19 และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 69

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top