สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ต.ค.65 พลิกมาหดตัว 3.71%YoY, 10 เดือนยังโต 2.17%

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.65 อยู่ที่ระดับ 93.89 ลดลง 3.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ดัชนี MPI อยู่ที่ 99.06 ขยายตัวเฉลี่ย 2.17%

“ดัชนีอุตสาหกรรมเกิดภาวะหดตัวเร็วกว่าคาด แต่คาดว่าในเดือนพฤศจิกายนจะกลับมาขยายตัวอยู่ในแดนบวกแน่นอน” นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว

ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ต.ค.65 อยู่ที่ 59.91% ลดจากเดือนก.ย.65 ซึ่งอยู่ที่ 63.34% ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.06%

ทั้งนี้ สศอ.ได้ประมาณการว่า ในปี 2565 MPI จะขยายตัว 1.9% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัว 2.0% ส่วนในปี 2566 คาดว่า MPI จะขยายตัว 2.5-3.5% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะขยายตัว 2.5-3.5%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนี MPI เดือน ต.ค.ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงเทคนิคชั่วคราวของสถานประกอบการเอง ได้แก่ การหยุดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นบางโรง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากการส่งออกที่หดตัวจากผลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้กระทบต่อการส่งออกของไทยเร็วกว่าที่คาดไว้, การผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรหลายกลุ่มหดตัว เช่น ปุ๋ยเคมี ผลิตภัณฑ์ยาง การแปรรูปผักผลไม้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์, น้ำมันปาล์ม, อาหารสัตว์

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือน ต.ค.65 ได้แก่

  • ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.88% จากรถบรรทุกปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดกลางเป็นหลัก ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรและผลผลิตต่างๆ อยู่ในระดับที่ดี และสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง หลังปัญหาขาดแคลนชิปคลี่คลายมากขึ้น
  • น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.82% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากมีความต้องการสินค้ามากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน และการปรับการใช้น้ำมันจาก B5 เป็น B7 รวมถึงมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.47% ตามการขยายตัวของตลาดโลกในยุคดิจิทัลที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21
  • อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.63% เนื่องจากเกษตรกรมีการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น เพื่อสนองความต้องการบริโภคเนื้อไก่ที่ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงความนิยมการเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง
  • ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.76% จากเสาเข็ม คอนกรีตผสมเสร็จ และพื้นสำเร็จรูป เป็นหลัก โดยปีนี้สถานการณ์การก่อสร้างคลี่คลายเป็นปกติ และมีการก่อสร้างมากขึ้น

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ย.65 – เม.ย.66 มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและค่าไฟฟฟ้า, นโยบายการเงิน และค่าเงินบาท ที่ส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้า และแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวที่ส่งผลต่อการส่งออก

สำหรับช่วงเทศกาลบอลโลกในขณะนี้ ส่งผลดีต่อหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป, อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมเสื้อผ้ากีฬา และอุตสาหกรรมกระดาษแข็งที่นำไปผลิตเป็นไปรษณียบัตรทายผล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top