ก.เกษตร ชงฟรุ้ทบอร์ดตั้งมหานครผลไม้ ยกระดับจันทบุรี-ภาคตอ.สู่ฮับผลไม้โลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาโครงการมหานครผลไม้ และการขนส่งผลไม้ผ่านสนามบินจันทบุรี กล่าวว่า คณะทำงานฯ จะเสนอฟรุ้ทบอร์ด (Fruit Board) พิจารณาเห็นชอบพิมพ์เขียวแนวทางการพัฒนาโครงการจัดตั้งมหานครผลไม้ (Fruit Metropolis Blueprint) และหลักการแห่งร่างกฎหมายกองทุนผลไม้แห่งชาติ (National Fruit Fund) รวมทั้งแนวทางการพัฒนาสนามบินจันทบุรี ในการประชุมฟรุ้ทบอร์ดครั้งต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าประชุมฟรุ้ทบอร์ดปลายเดือนหน้าหรือต้นเดือนม.ค. 66 เพื่อยกระดับจังหวัดจันทบุรี ภาคตะวันออกเป็นฮับผลไม้โลก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำการผลิตและส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของโลก โดยปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการมหานครผลไม้ มุ่งต่อยอดการพัฒนาจากฐานศักยภาพปัจจุบันของจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก เชื่อมโยงกับศักยภาพของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor) โดยจะจัดตั้งบนพื้นที่ของรัฐ ในอำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ ของจังหวัดจันทบุรี พร้อมกับการพัฒนาสนามบินจันทบุรีเป็นสนามบินพาณิชย์

โครงการมหานครผลไม้ ประกอบไปด้วย การแบ่งโซนพื้นที่และองค์ประกอบสำคัญ เช่น 1. ศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจร 2. ศูนย์ธุรกิจแสดงสินค้าและการประชุม 3. ศูนย์การค้าอีคอมเมิร์ซและการประมูลออนไลน์ 4. ศูนย์แปรรูปผลไม้ 5. ศูนย์โลจิสติกส์ การขนส่งและคลังสินค้า 6. ศูนย์รวบรวมคัดแยกและบรรจุผลไม้สด 7. ศูนย์ห้องเย็น (Cold Chain Center) 8. ศูนย์ปฏิบัติการแล็ปกลาง 9. ศูนย์ตรวจรับรองคุณภาพผลไม้ และ 10. ศูนย์วิจัยและพัฒนา โดยสถาบันผลไม้ (Fruit Academy) จัดตั้งภายใต้ระบบศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC)

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการจะใช้รูปแบบร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) และการลงทุนของภาคเอกชนเป็นหลัก เน้นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสู่เกษตรมูลค่าสูง โดยต่อยอดและเชื่อมโยงเสริมศักยภาพปัจจุบันของตลาดผลไม้ และระบบการค้าการส่งออกที่มีอยู่เดิม เพิ่มในส่วนที่ขาดมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางผลไม้ของโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการพัฒนาและปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และเห็นว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ เพื่อการขนส่ง การค้า และการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดนอกเขตอีอีซี โดยช่วงแรกจะใช้สนามบินอู่ตะเภา สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และสนามบินจังหวัดตราดไปก่อน โดยจะมีหนังสือขอการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม รวมทั้งการขยายระบบรางมายังโครงการมหานครผลไม้ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top