ห่วงสินค้าเกษตรราคาตก-ต้นทุนผลิตยืนสูง ฉุดรายได้เกษตรกรปี 66

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 66 อาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยอาจให้ภาพที่หดตัวมาอยู่ที่ราว 0.8% (เมื่อเทียบกับปี 65 ที่อาจขยายตัวพุ่งสูงที่ 13.5% ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 65 รายได้เกษตรกรขยายตัว 16%) จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

หากพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละสินค้าเกษตร จะพบว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรที่ลดลงในปี 66 จะมาจากแรงฉุดด้านราคาที่ลดลงเป็นหลักคิดเป็นราว 1.0% (เมื่อเทียบกับปี 65 ที่ราคาอาจขยายตัวสูงกว่า 11.1% หลังจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 65 ราคาสินค้าเกษตรขยายตัว 11.9%) ซึ่งมาจากราคาสินค้าเกษตรในรายการหลักเป็นส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ทุเรียน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

จากแรงฉุดด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และสอดคล้องไปกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในตลาดโลกที่น่าจะย่อลงจากฐานที่พุ่งสูงในปี 65 อย่างไรก็ดี ข้าว น่าจะเป็นพืชที่ยังประคองราคาให้ขยายตัวเป็นบวกต่อได้ จากความต้องการที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ในฝั่งของผลผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิด คาดว่า น่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 65 จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรในปี 66 น่าจะย่อลงจากฐานที่พุ่งสูงในปี 65 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกและราคาปุ๋ยเคมีนำเข้าที่อาจปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีทีท่ายืดเยื้อ จะทำให้โดยภาพรวมแล้วราคาปัจจัยการผลิตดังกล่าวนับว่ายังคงยืนอยู่ในระดับสูง

ประกอบกับในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตดังกล่าว แม้คาดว่าค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนได้ทั้งสองทิศทางเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คาดว่าไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าในระดับสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทย และทำให้ในปี 2566 เกษตรกรส่วนใหญ่คงต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังยืนอยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรสุทธิในปี 66 อาจให้ภาพที่ย่อลงเมื่อเทียบกับปี 65 และคงมีความท้าทายมากขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า ทั้งเรื่องราคาขายและต้นทุนการผลิต ซึ่งคงจะเผชิญความท้าทายในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของสินค้าเกษตร ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรสุทธิที่ประเมินดังกล่าว จะยังไม่นับรวมวงเงินช่วยเหลือจากมาตรการประกันรายได้ของภาครัฐ โดยจะแบ่งสินค้าเกษตรออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

1.กลุ่มที่เผชิญความท้าทายมาก คือ ยางพารา และทุเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ทำให้รายได้สุทธิลดลงมาก จากราคาที่ปรับตัวลดลง เพราะพึ่งพาตลาดจีนสูง ทำให้ได้รับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน และยังต้องเผชิญต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะสัดส่วนแรงงานและปุ๋ยเคมีในระดับสูง

– ยางพารา เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักราว 36.4% ของปริมาณการส่งออกยางพาราไทย จึงอาจเผชิญความท้าทายด้านอุปสงค์จากจีน ที่อาจกระทบภาคการผลิตรถยนต์ของจีนเป็นหลัก รวมถึงตลาดในประเทศที่มีความท้าทายจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เพิ่งฟื้นตัวและถุงมือยางที่อาจชะลอลงหลังโควิดเริ่มคลี่คลาย อีกทั้งยางล้อเพื่อการส่งออกยังอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา

ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา คงต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูง โดยเฉพาะค่าแรงงานและค่าปุ๋ยเคมี เนื่องจากมีการพึ่งพาแรงงานและใช้ปุ๋ยเคมีในสัดส่วนสูง อีกทั้งอาจประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องเผชิญรายได้เกษตรกรสุทธิที่มีความท้าทายสูง

  • ทุเรียน เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูงราว 90% ของปริมาณการส่งออกทุเรียนสดของไทย ทำให้มีความเสี่ยงสูงจากแรงฉุดด้านอุปสงค์จากจีน ประกอบกับจีนเริ่มมีการปลูกทุเรียนได้เองและยังมีการขยายการลงทุนไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น สปป.ลาว ทำให้อุปทานในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ คู่แข่งอย่างเวียดนาม ก็เร่งผลิตเพื่อส่งออกทุเรียนไปขายยังจีนเช่นกัน กระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ซึ่งจะกดดันราคาและอาจกระทบรายได้สุทธิให้เผชิญความท้าทายมากขึ้น

2. กลุ่มที่สามารถประคองตัวได้ คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สุทธิใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก จึงอาจลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่ไม่แน่นอนในการส่งออกไปยังตลาดโลก และมีราคาที่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี สอดคล้องไปกับราคาพืชพลังงานและอาหารสัตว์ที่ยังยืนสูงจากอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว ผลจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมีอยู่

  • ปาล์มน้ำมัน แม้ราคาจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่นับว่ายังเป็นราคาที่อยู่ในระดับสูงตามอุปทานพืชน้ำมันในตลาดโลกที่ตึงตัว จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และด้วยการพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลักกว่า 80% ทำให้มีอุปสงค์ในหมวดอาหารที่ฟื้นตัวขึ้นรองรับ

อย่างไรก็ดี เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน คงต้องเผชิญต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีในระดับสูง แม้จะย่อลง จากการที่ปาล์มน้ำมันพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพืชเกษตรอื่น ท้ายที่สุด ราคาขายที่ลดลงจะใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตส่วนที่ลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิอาจใกล้เคียงกับปี 65

  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ราคาจะปรับลดลง แต่ยังคงยืนสูง ตามอุปสงค์ในประเทศที่มีรองรับ ด้วยการพึ่งพาตลาดในประเทศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในอาหารสัตว์ตามการฟื้นตัวของภาคปศุสัตว์ อีกทั้งผู้ประกอบการปศุสัตว์ยังอาจสามารถปรับสูตรอาหารสัตว์ได้ระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ในจังหวะที่อุปทานข้าวสาลีในตลาดโลกยังคงตึงตัว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยยังมีผลผลิตที่ดี ทำให้จะมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และดันราคาได้ สอดคล้องไปกับราคาธัญพืชโลกที่ยังยืนสูงตามอุปทานโลกที่ตึงตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตอาจใกล้เคียงกับปี 65 ทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิอาจลดลงถึงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 65
  • อ้อย ราคาอ้อยอาจลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่บนฐานสูง ตามอุปสงค์ที่มีในหมวดอาหารและพลังงานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากราคาน้ำตาลโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี จากการที่บราซิลนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น ผนวกกับอุปทานอ้อยไทยที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง ตามการใช้แรงงานและปุ๋ยเคมีในสัดส่วนสูง อย่างไรก็ดี คงมีประเด็นติดตามในร่างแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่ยังมีความไม่ชัดเจนในนิยามของคำว่า กากน้ำตาล ซึ่งอาจกระทบต่อราคาและผลผลิตอ้อยให้มีความไม่แน่นอนสูงได้ในระยะข้างหน้า

3. กลุ่มที่เผชิญความท้าทายน้อย คือ ข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้รายได้สุทธิค่อนข้างดี จากอุปสงค์ที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ แต่คงต้องเผชิญต้นทุนปุ๋ยเคมีในระดับสูงและต้องจับตาอิทธิพลของลานีญาที่มีผลต่อการเพาะปลูก ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตโดยเฉพาะข้าว

  • ข้าว มีราคาที่ยังขยายตัวต่อได้ ตามอุปสงค์ที่มีรองรับ ขณะที่ไทยสามารถผลิตข้าวได้ในระดับสูง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจากผลของลานีญา แต่เกษตรกรคงต้องเผชิญต้นทุนราคาปุ๋ยเคมีในระดับสูง เนื่องด้วยข้าวพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีในสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนการผลิตรวม สุดท้ายด้วยราคาขายที่ดี จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรสุทธิยังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาความไม่แน่นอนด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน จนอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวและรายได้เกษตรกร
  • มันสำปะหลัง แม้จะเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักราว 80% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย จึงมีความเสี่ยงจากอุปสงค์ของจีน ทำให้ราคาย่อลง แต่ด้วยมันสำปะหลังเป็นทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน ทำให้มีอุปสงค์ในประเทศบางส่วนรองรับ จึงช่วยพยุงราคาไว้ได้บ้าง โดยเฉพาะอุปสงค์ในอาหารเทรนด์ใหม่อย่างโปรตีนจากพืชที่มีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงความต้องการเอทานอลที่กำลังฟื้นตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับปี 65 ทำให้รายได้สุทธิยังสามารถอยู่ในเกณฑ์ดีได้

ทั้งนี้ ต้องจับตาประเด็นความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะ Dynamic Zero-COVID Policy หลังเดือนมี.ค. 66 ซึ่งปัจจุบันจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการกักตัว/ตรวจเชื้อ และมีแผนที่จะเร่งฉีดวัคซีน mRNA ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จีนจะทยอยความเข้มงวดของมาตรการลงตามลำดับหากการระบาดของโควิดอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ ดังนั้น ในกรณีที่ทิศทางเศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นได้เร็ว ก็อาจหนุนอุปสงค์สินค้าเกษตรจากจีนให้ฟื้นตัวได้มากกว่าที่ประเมินไว้

นอกจากนี้ ต้องติดตามประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก ทั้งเหตุการณ์ในยูเครน และพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ซึ่งอาจมีผลต่อสมดุลอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรทั่วโลก และท้ายที่สุดจะกระทบมายังรายได้เกษตรกรสุทธิของไทย

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐในปี 66 ที่รายได้เกษตรกรสุทธิมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงแตกต่างกันนั้น คงต้องพิจารณามาตรการที่เฉพาะเจาะจงในสินค้าเกษตรแต่ละชนิด โดยอาจเน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางสูงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว มาตรการระยะสั้นที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศต่อสินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อประคองราคา ยังมีความจำเป็น ได้แก่ แนวทางการเพิ่มความต้องการใช้สินค้าเกษตรในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำในจังหวะที่อุปทานสินค้าเกษตรกำลังทยอยออกสู่ตลาด เช่น การเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราในการซ่อมแซมถนน/สร้างถนน/สร้างฝาย การเพิ่มความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน การสนับสนุนให้ร้านอาหารซื้อสินค้าเกษตรที่สั่งตรงจากฟาร์มมากขึ้นและส่งเสริมช่องทางแพลตฟอร์มฟาร์มออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการให้เงินเยียวยาแก่เกษตรกรในกรณีเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม และการสนับสนุนเงิน/จัดหาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ก็อาจช่วยหนุนราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรไม่ให้เผชิญความยากลำบากมากนัก

ขณะเดียวกัน ต้องควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร รวมไปถึงการให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินเพื่อลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิมากพอต่อการดำรงชีพได้ และมาตรการเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยกระดับไปสู่สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตอบรับกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญต่อ ESG และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top