นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ในปี 66 ถือว่ายังเป็นปีที่ยังน่าเป็นห่วงกว่าปี 65 จากความเสี่ยงที่มีมากขึ้น และต่อเนื่องมาจากปีนี้ ได้แก่ ปัญหาสงครามรัสเซียที่ยังมีความยืดเยื้อ การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และการที่จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero-Covid
ขณะเดียวกันยังต้องลุ้นในการติดตามการเกิดวิกฤติอื่นๆที่อาจจะตามมา โดยเฉพาะวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป และวิฤติในตลาดเกิดใหม่ ที่อาจจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้ได้ รวมถึงการกลายพันธ์ของโควิด-19 ที่ยังมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้ ทำให้เป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 66
“เรียกได้ว่าปีหน้าหลายๆคนมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยที่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ จนมีหลายคนพูดว่าปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง แต่เศรษฐกิจไทยปีหน้าหลายๆสำนักยังมองเป็นบวก จากภาคการท่องเที่ยวที่หนุนหลัก”
นายอมรเทพ กล่าว
ด้านเศรษฐกิจไทยปี 66 ธนาคารประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไว้ที่เติบโต 3.4% สูงขึ้นกว่าปี 65 ที่เติบโต 3.2% มาจากการฟื้นตัวหลักของภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มากขึ้น โดยคาดว่าปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 20 ล้านคน จากปีนี้ที่ 10 ล้านคน ประกอบกับการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยหนุนต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีการลงทุนมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ แม้ว่าภาคการส่งออกไทยในปี 66 ธนาคารมองว่าจะติดลบ 1% จากความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย
ด้านทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนมองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้จ่ายลดลง ขณะที่คาดบรรยากาศในการลงทุนที่ดีขึ้น แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้า โดยธนาคารมองค่าเงินบาทในปี 66 อยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้ที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากโอกาสที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเห็นการกลับมาเกินดุลอย่างชัดเจน
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 66 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะหยุดขึ้นดอกบี้ยได้ช่วงกลางปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2% ในช่วงกลางปีหน้า จากระดับ 1.25% ในปลายปีนี้ อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะอยู่เหนือกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระดับบนที่ 3% ซึ่งทางธปท. ยังไม่น่าส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปีหน้าได้
ขณะที่การเลือกตั้งของไทยในปีหน้ายังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามว่าผลการเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งยังคงต้องรอติดตามในเรื่องของนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่ออกมา รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในระยะสั้นมองว่าการลงทุนจากต่างชาติอาจจะยัง wait & see เพื่อปรับมุมมองถึงนโยบายของรัฐบาลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
“การเลือกตั้งเป็นโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยสามารถอยู่และก้าวผ่านกับความผันผวนทางการเมืองมาได้”
นายอมรเทพ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)
Tags: CIMBT, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, วิกฤตเศรษฐกิจ, อมรเทพ จาวะลา, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย