ศก.ฟื้น-โควิดคลี่คลาย หนุนยอดใช้พลังงานสูงขึ้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนของปี 65 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 3% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มากขึ้น

ทั้งนี้ในส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 11.4% ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกประเภทพลังงาน โดยเฉพาะการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในส่วนของน้ำมันเครื่องบินมีการใช้เพิ่มขึ้นถึง 80.1% จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ สำหรับการใช้ไฟฟ้ามีการใช้เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาธุรกิจ เพิ่มขึ้น 11.6% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งการที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้บุคลากรกลับไปทำงานที่สำนักงานตามปกติหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง

สถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 65 สรุปได้ดังนี้

– การใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 16.1% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล LPG (ไม่รวมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และน้ำมันเบนซิน 80.1% 18.9% 18.5% 7.6% และ 5.4% ตามลำดับ ส่วนการใช้น้ำมันก๊าด ลดลง 8.1% โดยการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 18.5% อยู่ที่ระดับ 72 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้น 5.4% อยู่ที่ระดับ 30 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 80.1% อยู่ที่ระดับ 8 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 18.9% อยู่ที่ระดับ 6 ล้านลิตรต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม

– การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้น 8.0% อยู่ที่ระดับ 18.2 พันตันต่อวัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็น 45% มีการใช้เพิ่มขึ้น 8.6% รองลงมาภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 31% มีการใช้เพิ่มขึ้น 1.8% ภาคขนส่งมีสัดส่วน 13% มีการใช้เพิ่มขึ้น 37.8% ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วน 10% มีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% ในขณะที่การใช้เอง ซึ่งมีสัดส่วน 1% มีการใช้ลดลง 44.8%

– ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ลดลง 5.3% อยู่ที่ระดับ 4,246 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน โดยลดลงจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม 15.4% และ 5.7% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 6% และการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 9.4%

– การใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 8.95 อยู่ที่ระดับ 15,041 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 10.9% และการใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.9% ส่วนการใช้ลิกไนต์ ลดลง 1.4% ทั้งนี้ 95% ของการใช้ลิกไนต์เป็นการใช้ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลือ 5% นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม

– การใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 4.4% มีการใช้รวมทั้งสิ้น 149,972 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 45% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.9% จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น รองลงมา คือ การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ มีสัดส่วน 23% และมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 11.6% ซึ่งมาจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี 65 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.65 เวลา 14:30 น. อยู่ที่ระดับ 33,177 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 65 คาดว่าจะความต้องการพลังงานขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 2,056 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปี 64 สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปี 65 จะมีการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตภายในประเทศที่ลดลง และผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน สำหรับการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14.9% การใช้ก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะลดลง 9.1% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7.1% ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14.7%

ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 66 คาดว่าจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 2.7% จากความต้องการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติมากขึ้นทั้งการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ โดยการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2% ก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.8% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1% และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.4%

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย และแนวโน้มความต้องการพลังงานในปี 66 ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออก สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศจีน (ZERO COVID-19) ซึ่งกระทรวงพลังงานจะติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤติราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top