ภาคเอกชนรวมตัววอนรัฐปลดชนวนขึ้นค่า Ft ก่อนสร้างผลกระทบลูกโซ่ศก.ไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมด้วยภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ร่วมกันชี้แจงผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟ เนื่องจากความกังวลเรื่องค่าไฟฟ้าเป็นสิ่งที่หอการค้าต่างประเทศซึ่งเป็นสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศเรียกร้องให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงไปถึงรัฐบาล ซึ่งตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ และจะเร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้ทันเวลา

อนึ่ง เมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อเรียกร้องให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากสัดส่วนการใช้ไฟฟ้ากว่า 75% มาจากผู้ประกอบการ แยกเป็น ภาคอุตสาหกรรม 48% และภาคการค้าและบริการ 27%

“ไม่อยากให้เรื่องค่าไฟไปทำลายโมเมนตัมของการลงทุนและท่องเที่ยวที่เราได้มาจากการประชุมเอเปค…มันเป็นช่วงเวลาที่จะชี้ชะตาเศรษฐกิจของประเทศ” นายสนั่น กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะส่งผลกระทบใน 3 เรื่อง คือ 1.ลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาค 2.ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และ 3.ลดความน่าสนใจที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

“เวียดนามประกาศตรึงไว้ที่ 2.88 บาท ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.15 บาท แต่ของเราจะขึ้นเป็น 5.69 บาท และอาจจะปรับขึ้นได้อีก คนที่กำลังตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนก็ต้องลังเล” นายเกรียงไกร กล่าว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงมากถึงสองงวดติดต่อกัน ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน

ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีการใช้พลังงานและไฟฟ้ามาก ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งหากอุตสาหกรรมต้นน้ำได้รับผลกระทบย่อมส่งผลต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่ม SME

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้น-ลงค่าไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และโอกาสการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย การปรับค่า Ft แม้จะมีการปรับเพิ่มต่อเนื่องจนในปัจจุบันอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วยก็ยังอยู่ในวิสัยที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนรองรับได้ แต่การปรับที่จะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก 3.0% อาจแตะที่ 3.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้นยิ่งจะซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเช่นกัน

สำหรับข้อเสนอที่ กกร.เสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ของเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ได้แก่

1.ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน และภาครัฐควรเจรจาลดค่า AP จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงานสูง ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 1 บาท

2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ.ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี

3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า

3.1 ขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) แบบขั้นบันได สำหรับผู้ใช้ไฟน้อย ก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟเยอะ ให้จัดเก็บคนละอัตรา เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ

3.2 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak มากขึ้น

4.เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน โดยไม่พึ่งพาจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น โดยส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกิน กลับให้การไฟฟ้าด้วยการปลดล็อคเรื่องใบอนุญาต รง.4 ขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปรกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าของแผง Solar Cell และอุปกรณ์เช่น Inverter และอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาระบบ Net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ

5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.ด้านพลังงาน)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เรากำลังประสบวิกฤตซ้อนวิกฤต ขณะที่เพิ่งฟื้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงทุกภาคส่วน สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งขนาดใหญ่และ SMEs มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้พยายามปรับตัวมาตลอด เช่น การใช้พลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนและผลกระทบต่อผู้บริโภค

หากมีการปรับขึ้นค่า Ft จะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที โดยในระยะสั้นราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ระยะยาว ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120%

“ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าจะทำให้ความน่าสนใจเรื่องการลงทุนของไทยน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบควรประเมินได้ว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี” นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคค้าปลีกและบริการได้ถูกล็อคดาวน์หลายครั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนถึงปัจจุบันนี้สถานการณ์ได้เริ่มที่จะผ่อนคลายจากการเปิดประเทศ ธุรกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็กลับมาเพียง 1 ใน 4 จากช่วงก่อนโควิด-19

ในปีนี้ภาคค้าปลีกและบริการประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เพราะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น ค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น และค่าพลังงานที่เป็นค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งโดยปกติ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของภาคค้าปลีกและบริการเป็นสัดส่วน 20-50% แล้วแต่ประเภทธุรกิจ

ปัจจุบันมูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่จ่ายอยู่เป็นเงินกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี หากต้องปรับเพิ่มค่า Ft จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ภาคค้าปลีกและบริการเองได้มีการพยายามแก้ไขปัญหาและจัดการด้านพลังงานด้วย การหาพลังงานทดแทนมาเสริม เช่น การติดตั้ง Solar rooftop ใช้อุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงาน การปรับใช้แสงธรรมชาติมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถที่จะมาทดแทนกับค่าใฟฟ้าที่สูงขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ SMEs 2.4 ล้านราย และการจ้างงานกว่า 13 ล้านคนในภาคค้าปลีกและบริการอยู่รอด จึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนและพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

1.ขอให้ภาครัฐมีนโยบายตรึงราคาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการเหมือนกับที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันครั้งที่ผ่านมา เพราะไฟฟ้ามีความสำคัญเทียบเท่ากับน้ำมัน ซึ่งมีผลกับต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก

2.ขอให้มาตรการลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน และงดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานทดแทน

3.ขอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างการคิดค่า Ft ให้สอดคล้อง และถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้บริโภค โดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมนับเป็น great multiplayer เป็นธุรกิจสำคัญที่กระจายรายได้สู่ภาคครัวเรือนและเชื่อมโยงกับภาคขนส่ง ภาคค้าส่ง ค้าปลีก และภาคเกษตรกรรม ซึ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวปีหน้ายังมีภาวะความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เงินเฟ้อในประเทศที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง กำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง ต้นทุนการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งค่าจ้าง วัตถุดิบ โดยค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด ซึ่งปกติไม่เกิน 5% ของรายได้ แต่ปัจจุบันปรับสูงถึง 6-8% และก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่าไฟสัดส่วนของต้นทุนเท่ากับ 5% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 11% ซึ่งไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ แตกต่างจากธุรกิจอื่น หรือสายการบินในต่างประเทศ ที่มี fuel surcharge จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมให้ฟื้นตัว อาทิ ความเป็นไปได้ที่จะไม่ปรับขึ้นราคาไฟฟ้าเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

ในช่วงเวลาที่ประเทศยังต้องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขอยกเลิกค่า minimum charge สำหรับธุรกิจโรงแรมให้ธุรกิจได้มีโอกาสฟื้นตัว เสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในเครื่องจักร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน และการลงทุนนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในโรงแรม เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยคาร์บอน และสอดรับกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และให้นำค่าใช้จ่ายในการลงทุนมาลดหย่อนภาษีเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

“น่าจะเป็นโอกาสดีที่ภาครัฐจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจก้าวเข้าสู่โมเดล BCG ตามนโยบายที่กำหนดไว้” นางมาริสา กล่าว

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ของไทยฉบับ PDP 2018 ได้มีการประมาณการว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า (LNG) จะอยู่ในระดับ 10 เหรียญต่อล้านบีทียูเป็นระยะเวลาไปอีก 20 ปี ทำให้มีแผนจะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงถึง 53% แต่จากภาวะที่ผันผวนของราคาพลังงานในปัจจุบันไม่ว่าจะปัจจัยจากโควิด-19 หรือสงครามที่ยืดเยื้อ เราพบว่าราคาของก๊าซธรรมชาติเหลว ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์และราคามีความผันผวน โดยในปีนี้บางขณะมีราคาสูงถึง 60 เหรียญต่อล้านบีทียู และปัจจุบันได้อยู่ในจุดที่คงที่ประมาณ 30 เหรียญต่อล้านบีทียู และยังมีแนวโน้มที่จะคงค่าอยู่ในระดับนี้ไปอีกนาน

ดังนั้นสมมติฐานเดิมที่ใช้ในการทำแผน PDP ว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจะมีราคาคงที่ในระดับต่ำ น่าจะไม่ใช่สมมติฐานที่ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยในอนาคตจะมีราคาสูงเกินไปตามราคาก๊าซธรรมชาติ เพราะต้นทุนของเชื้อเพลิงการผลิตจะถูกส่งต่อไปให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยในปัจจุบัน

ในทางกลับกัน ราคาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทที่ไม่มีเชื้อเพลิง ได้แก่ ลมและแสงอาทิตย์ จะมีราคาคงที่ตลอด 25 ปี เนื่องจากต้นทุนหลักมาจากค่าก่อสร้างแค่ในครั้งแรก ดังนั้นค่าไฟฟ้าจึงสามารถกำหนดได้ในระยะยาวและคงที่อย่างแท้จริง และในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวไปไกล ทำให้ต้นทุนการตั้งโรงไฟฟ้าทั้งลมและแสงอาทิตย์ มีราคาที่ถูกลง ดังจะเห็นได้จากการรับซื้อไฟฟ้าในปัจจุบันของพลังงานหมุนเวียน ที่จะทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าในราคาเพียง 2.16 บาทต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และ 3.1 บาทต่อหน่วยสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลม หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่มีแบตเตอรี่ เพื่อให้จ่ายไฟได้คงที่ตลอดช่วงเวลาที่ต้องการใช้ ก็มีราคารับซื้อเพียง 2.83 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะเห็นว่ามีราคาที่ถูกกว่าค่าไฟฟ้าขายปลีกในปัจจุบันอย่างมาก และที่สำคัญราคารับซื้อนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุสัญญา 25 ปีแม้ว่าราคาพลังงานในโลกจะสูงหรือต่ำเพียงใดก็ตาม ประกอบกับการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น นอกจากประเทศไทยจะได้ใช้ไฟฟ้าที่มีราคาถูกแล้วยังตอบโจทย์ด้านความสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย

กลุ่มพลังงานหมุนเวียนฯ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐได้ทบทวนสมมติฐานในการทำแผน PDP ใหม่ โดยลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในส่วนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้า และไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะค่าไฟฟ้าสูงเช่นนี้ โดยเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมาร่วมด้วยเพื่อให้การจ่ายไฟฟ้าเป็นราคาที่คงที่ อีกทั้งยังเป็นไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย หากภาครัฐรับฟังข้อเสนอแนะดังกล่าว และพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟสูงไปด้วยกันก็จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเติบโต สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ รวมทั้งต่อลมหายใจให้กับประชาชนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top