บริษัทต่างชาติหวั่นโควิดระบาดในจีนกระทบห่วงโซ่อุปทาน เร่งหาฐานการผลิตใหม่

จีนกำลังแข่งขันกับเวลาเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านแรงงานและการผลิตภายในประเทศ หลังโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดแบบเป็นวงกว้างเริ่มทดสอบศักยภาพของจีนในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับคำสั่งจากต่างชาติและเสี่ยงทำลายสถานะศูนย์กลางการผลิตสำคัญของโลก

“จีนได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ จากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโรคโควิด-19 ในปีนี้” นายยอร์ก วุตต์เคอ ประธานหอการค้ายุโรปในจีนกล่าว

ในโอกาสนี้ นายวุตต์เคอได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนดำเนินการตามพันธสัญญาว่าจะปฏิรูปและเปิดประเทศ “แต่หากรัฐบาลจีนไม่ดำเนินการตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ จีนจะเผชิญความท้าทายด้านการลงทุนในอนาคต”

เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจีนให้ความสำคัญกับขนาดของตลาดและความสามารถด้านการผลิตของประเทศ เพื่อรักษานักลงทุนต่างชาติเอาไว้ แต่นักลงทุนจำนวนมากเริ่มมองหาทางเลือกอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออินเดียแทนแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าและยกเลิกบังคับใช้มาตรการสกัดโควิด-19 ไปแล้ว

“จีนจะเผชิญภาวะติดขัดเป็นระยะ ๆ ในช่วงไตรมาสถัดไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น” นายหวัง จวิน ผู้อำนวยการสภานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจีน (China Chief Economists Forum) กล่าว

ทางการจีนระงับเผยแพร่ประมาณการตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเป็นทางการ หรือผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานแล้ว แต่ข้อมูลการประมาณการภายในที่รั่วไหลออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้บ่งชี้ว่า ยอดผู้ติดเชื้ออาจพุ่งแตะ 250 ล้านคนในช่วง 20 วันแรกของเดือนธ.ค. และโรคระบาดอาจแพร่กระจายรุนแรงยิ่งขึ้น

นายหวังระบุว่า โควิด-19 แพร่ระบาดไปตามเมืองเล็กและพื้นที่ชนบทต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างถิ่นกลับมาทำงานในเมืองน้อยลง หลังเสร็จสิ้นวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปีหน้านี้ตรงกับวันอังคารที่ 22 ม.ค.

“ห่วงโซ่อุปทานของจีนสามารถยืนหยัดต่อบททดสอบต่าง ๆ มาได้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น การปรับปรุงนโยบายควบคุมโควิด-19 อย่างทันท่วงทีจะช่วยพัฒนาความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทานได้”

นายเยนส์ ฮิลเดบรันด์ ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าเยอรมนีในจีนระบุว่า “ห่วงโซ่อุปทานจะยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยบรรดาบริษัทของเยอรมนีในจีนคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะหวนคืนสู่ภาวะปกติได้ในเดือนก.พ.หรือมี.ค.”

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจเดือนธ.ค.ของหอการค้าอเมริกันในจีนระบุว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 17% คาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัดจากโควิด-19 ระบาดระลอกปัจจุบัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ธ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top