สำนักข่าวบลูมเบิร์กนำเสนอบทวิเคราะห์โดยระบุว่า ในปี 2565 นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ยิงขีปนาวุธมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ลดเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพิกเฉยต่อการคว่ำบาตรจากทั่วโลก และคาดว่านายคิมจะยิ่งเพิ่มความก้าวร้าวมากขึ้นในปีหน้า
นายคิมมีกำหนดเปิดเผยเค้าโครงแผนการสำหรับปี 2566 ในสัปดาห์นี้ เนื่องด้วยพรรคแรงงานจะเสร็จสิ้นการประชุมกำหนดนโยบายสำคัญสิ้นปี โดยนายคิมกล่าวระหว่างการประชุมว่า เขาจะเสริมกำลังทหาร แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดจนกว่าสื่อของรัฐจะเผยแพร่รายงานการประชุมในช่วงวันปีใหม่ โดยรายงานปีที่แล้วมีความยาวเกือบ 8,000 คำ
ด้วยโอกาสเพียงเล็กน้อยที่จะถูกคว่ำบาตรรอบใหม่ ประกอบกับแผนพัฒนาอาวุธเพิ่มเติม เช่น โดรน, เรือดำน้ำ และขีปนาวุธ นายคิมจึงมีแนวโน้มว่าจะยังคงเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีสหรัฐและชาติพันธมิตรด้วยนิวเคลียร์ต่อไป
ราเชล มินยอง ลี ผู้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ให้กับองค์กรโอเพ่นซอร์ส (OSE) ของ CIA มาเกือบสองทศวรรษ ตั้งข้อสังเกตว่า เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงในการกระทำของนายคิมในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายระยะยาวของเกาหลีเหนือแต่เดิมที่ต้องการให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐเป็นปกติในฐานะเป็นตัวกันชนต่อต้านจีนกับรัสเซีย ซึ่งหมายความว่า เกาหลีเหนือจะมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การอดทนต่อความยากลำบากที่ยืดเยื้อยาวนาน มากกว่าจะเลือกสานสัมพันธ์ทางการทูต
“จากคำแถลงอย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือและวาทกรรมของสื่อตั้งแต่ต้นปีมานี้ ตลอดจนปฏิบัติการทางทหารในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเกาหลีเหนือจะกลับสู่โต๊ะเจรจาในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้ยาก” ลีกล่าว
รัฐบาลของนายคิมได้ท้าทายมติของสหประชาชาติ (UN) ด้วยการยิงขีปนาวุธ 70 ลูกตลอดปี 2565 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมากกว่าปีอื่น ๆ เกือบ 3 เท่านับตั้งแต่ที่นายคิมขึ้นครองอำนาจเมื่อทศวรรษที่แล้ว โดยเรื่องนี้ช่วยในการสร้างคลังแสงขีปนาวุธที่ทันสมัยด้วยจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่ปิดบังอำพรางได้ง่ายกว่า ติดตั้งได้เร็วกว่า และออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงระบบป้องกันของสหรัฐในภูมิภาคนี้
นายคิมเดิมพันว่าการยิงขู่แบบนี้จะช่วยป้องกันการเผชิญหน้ากับสหรัฐแบบเดียวกับในปี 2560 ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าเกาหลีเหนือจะเจอกับ “ไฟบรรลัยกัลป์” เพื่อตอบโต้การทดสอบอาวุธของเกาหลีเหนือ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ธ.ค. 65)
Tags: UN, ขีปนาวุธ, คิม จอง อึน, มิสไซล์, สหประชาชาติ, อาวุธนิวเคลียร์, เกาหลีเหนือ