ผบ.ตร.พอใจอุบัติเหตุลดลง แนะ 10 มาตรการขับขี่ปลอดภัย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงวันที่ 30-31 ธ.ค.65 มียอดสะสม 715 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้บาดเจ็บ 714 คน ซึ่งในภาพรวมถือว่าลดลงกว่าปีก่อน โดยได้สั่งการให้หน่วยปรับแผนการตั้งจุดตรวจ เน้นการตรวจจับความเมาบนถนนสายรอง รวมทั้งรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย เพื่อป้องกันความสูญเสียรุนแรง ส่วนถนนสายหลักเน้นการตรวจจับความเร็ว ซึ่งย้ำให้ทุกหน่วยร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขอุบัติเหตุในพื้นที่ โดยนำเอาสถิติและข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 3 และ ภาค 4 สามารถดำเนินการได้ดี

สำหรับโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจทั่วประเทศในช่วงวันที่ 26 ธ.ค.65-1 ม.ค.66 มีผู้เข้าโครงการทั้งหมด 7,695 หลัง แบ่งเป็น ลงทะเบียนผ่าน สน./สภ. 1,157 หลัง และลงทะเบียนผ่าน App OBS 6,538 หลัง ซึ่งขณะนี้ได้มีประชาชนเดินทางกลับและได้ทำการคืนบ้านไปแล้ว 246 หลัง คงเหลือค้างอยู่อีก 7,449 หลัง

ส่วนการดูแลความเรียบร้อยพื้นที่จัดงานเคาน์ดาวน์ เช่น Bangkok Countdown 2023 ห้างเซ็นทรัลเวิร์ล, เมก้าบางนา, ไอคอนสยาม รวมถึงงานสวดมนต์ข้ามปีทั่วประเทศผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ตร.มีความห่วงใยการเดินทางของประชาชนจึงอยากย้ำ 10 มาตรการในการขับขี่ปลอดภัย ดังนี้

1.เตรียมสภาพร่างกายผู้ขับขี่มีความพร้อม พักผ่อนเพียงพอ

2.ตรวจสภาพรถก่อนออกเดินทาง

3.ศึกษาและวางแผนเส้นทาง เพื่อให้ถึงที่หมายโดยปลอดภัย

4.ดื่มไม่ขับ รวมถึงผู้โดยสารต้องไม่ดื่มแอลกอฮอล์บนรถโดยเด็ดขาด

5.ถึงช้าหน่อยแต่ปลอดภัย ไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด

6.ใช้อุปกรณ์นิรภัยขณะขับขี่และโดยสาร (หมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย)

7.ปฏิบัติตามกฎจราจรและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

8.ไม่เปิดเพลงเสียงดัง หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญในทาง

9.หากง่วงนอนหรือเพลีย ให้แวะพัก

10.มีน้ำใจให้เพื่อนร่วมทางบนท้องถนน

สำหรับผู้ที่ใช้รถใช้ถนนต้องการสอบถามเส้นทาง แจ้งอุบัติเหตุ หรือขอความช่วยเหลือ โทร. 1193 (ทางหลวงทั่วประเทศ) หรือ 1197 (กทม. และปริมณฑล) หรือ 191 และ 1599 ได้ตลอด 24 ชม.

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถิติสะสมในห้วง 3 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 29-31 ธ.ค.65 เกิดอุบัติเหตุ 1,183 ครั้ง ลดลง 12.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลง 169 ครั้ง และลดลง 21.13% จากค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี หรือจำนวน 317 ครั้ง ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 146 ราย ลดลง 10.98% จากช่วงเดียวของปีก่อน หรือลดลง 18 ราย และลดลง 18.44% จากค่าเฉลี่ยสะสม สะสม 3 ปี หรือลดลง 33 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บ 1,182 คน ลดลง 9.08% จากช่วงเดียวของปีก่อน หรือลดลง 118 ราย และลดลง 20.78% จากค่าเฉลี่ยสะสม 3 ปี หรือลดลง 310 คน

จำนวนอุบัติเหตุสะสมสูงสุดในพื้นที่ จว.สุราษฎร์ธานี 42 ครั้ง เสียชีวิตสูงสุดในพื้นที่ จว.เชียงราย 10 ราย บาดเจ็บสูงสุดในพื้นที่ จว.สกลนคร 46 ราย โดยมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 37.87% และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสูงสุดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย 58.06% โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้นในถนนทางหลวงมากที่สุด 42.27% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 81.11% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 19.00-20.00 น.

ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก รวม 200,114 ราย ได้แก่ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 59,715 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 55,420 ราย ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 21,432 ราย ตามลำดับ

“ภาพรวมการจราจรและการลดอุบัติเหตุเป็นไปด้วยดี ลดลงได้ต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสภาพการจราจรในห้วงวันที่ 30-31 ธ.ค.65 ยังมีความคล่องตัว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกการจราจรตามที่คาดการณ์ว่าประชาชนจะเริ่มเดินทางกลับ กทม.ในวันที่ 1 ม.ค.66 ประมาณ 550,421 คัน และสูงสุดในวันที่ 2 ม.ค.66 ประมาณ 649,897 คัน โดยต้องพร้อมปฏิบัติอยู่เสมอ” พล.ต.ประจวบ กล่าว

ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติตามแนวทางข้อสั่งการของ ผบ.ตร.โดยเคร่งครัด จังหวัดใดที่มีแนวโน้มสถิติสูงให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติเพื่อลดจำนวนสถิติการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บให้ลดน้อยลงกว่า 5% ตามเป้าหมาย และให้ทุกหน่วยออกกวดขันจับกุมดำเนินคดีกับผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา เพื่อช่วยป้องกันและลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งถนนในเขตชุมชน หรือเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุสูง

นอกจากนี้ การตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจรและการตั้งจุดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ให้เน้นกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต เช่น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถในขณะเมาสุรา และขับรถด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และให้ทำการสืบสวนคดีจราจร เพื่อทราบสาเหตุ ที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หากจุดใดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ให้นำไปวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหา มิให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำในบริเวณดังกล่าว กรณีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ให้ พงส. ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทุกราย นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ออกตรวจการปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่และการตั้ง จุดตรวจของผู้ใต้บังคับบัญชา ควบคุม กำกับดูแลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงการพิจารณาบริหารจัดการกำลังพล ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ม.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top