ยุงร้ายกว่าเสือ! ปี 65 สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออก-มาลาเรีย พุ่งหลายเท่า

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงเพิ่มขึ้น ทั้งโรคไข้เลือดออก และโรคมาลาเรีย โดยข้อมูลจากรายงานในปี 65 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 45,145 ราย ซึ่งมากกว่าปี 64 ถึง 4.5 เท่า อีกทั้งยังพบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกยืนยันถึง 31 ราย

ส่วนโรคไข้มาลาเรีย ข้อมูลจากระบบมาลาเรียออนไลน์ในปี 65 พบผู้ป่วยสะสม 10,174 ราย สูงกว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 66 โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ส่วนใหญ่พบเป็นชาวต่างชาติ และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย

ในส่วนของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบผู้ป่วยสะสม 1,370 ราย ถึงแม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปี 64 ถึง 2 เท่า ส่วนโรคติดเชื้อไวรัสซิกา พบผู้ป่วยสะสม 66 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 20 ราย นอกจากนี้ ยังพบทารกศีรษะเล็ก 1 ราย และโรคเท้าช้าง พบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 4 ราย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยุงในประเทศไทยมีหลายชนิด ชนิดที่พบเป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุงลายพาหะนำ โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า ส่วนยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย ยุงเสือพาหะนำโรคเท้าช้าง และยุงรำคาญ พาหะนำโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้างบางประเภท

โดยยุงพาหะแต่ละชนิด มีชีวนิสัย และแหล่งเพาะพันธุ์ที่แตกต่างกัน วงจรชีวิตของยุงจะมี 4 ระยะ คือ ระยะไข่, ลูกน้ำ, ตัวโม่ง และตัวเต็มวัย โดยระยะตัวเต็มวัยเพศเมียเป็นระยะที่กินเลือด เพื่อใช้ในการพัฒนาไข่ของยุง จึงทำให้เกิดการแพร่โรคติดต่อนำโดยยุงได้

นพ.โสภณ กล่าวว่า การป้องกันควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมีมาตรการทั้งในมิติของคน เชื้อโรค ยุงพาหะ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้หลายๆ วิธีการร่วมกัน เช่น การลดแหล่งเพาะพันธุ์ โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การใช้สารเคมีในการกำจัดยุง โดยเฉพาะในกรณีเกิดการระบาดของโรค

อย่างไรก็ดี หากมีอาการป่วย หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคติดต่อนำโดยยุง ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย ยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ด้าน พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า การใช้สารเคมีในการป้องกันควบคุมยุงพาหะนำโรค เช่น การพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีความจำเป็น เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้กระจายเป็นวงกว้าง และเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมีเชื้อไปกัดและแพร่โรคให้คนอื่นต่อไป ซึ่งการพ่นสารเคมีต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ทันท่วงที และได้มาตรฐานในขอบเขตการระบาดของโรค

นอกจากนี้ ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำด้วยการพ่นสารเคมี ควรเลือกใช้ประเภทและความเข้มข้นตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ต้องไม่พ่นบ่อยครั้งโดยไม่จำเป็นเพื่อป้องกันการดื้อของยุงต่อสารเคมี ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการควบคุมโรคในอนาคต

พญ.ฉันทนา กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่มีนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นนำเสนอรายงานวิจัยว่ายุงในเวียดนามและกัมพูชาดื้อสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroid) นั้น เป็นการออกผลศึกษาเพื่อเตือนให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียให้ตระหนักในการติดตามเฝ้าระวังยุงในพื้นที่ว่าดื้อสารเคมีหรือไม่ และเสนอให้มีการสลับสับเปลี่ยนสารเคมีกำจัดแมลง

ในส่วนกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้ศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ที่ใช้ในการกำจัดยุงลายบ้าน ด้วยวิธีการพ่นหมอกควัน และพ่น ULV 12 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก พิจิตร นครปฐม ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี พังงา สงขลา และกรุงเทพมหานคร พบว่ายังมีประสิทธิภาพควบคุมยุงลายบ้านได้ดี สามารถฆ่าได้มากกว่า 90% สำหรับประเทศไทยแนะนำให้ใช้สารเคมีกำจัดแมลงสูตรผสม และใช้ความเข้มข้นตามมาตรฐานซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดยุงได้อยู่แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top