คลังปรับเกณฑ์เบิกจ่ายค่ายาโรคมะเร็งตับ-มะเร็งไทรอยด์ ตั้งแต่ 15 ก.พ.

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง ได้ดำเนินงานภายใต้คณะทำงานพิจารณาแนวทางปรับปรุงและพัฒนาระบบเบิกจ่ายค่ายากลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลตามความเหมาะสม จำเป็น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นไปอย่างสมเหตุผล มีรายละเอียด ดังนี้

1. ปรับปรุงรายการยาและเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายารักษาโรคมะเร็งในระบบ OCPA ดังนี้

(1) ปรับปรุงเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายา Sorafenib ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma (HCC) และโรคมะเร็งไทรอยด์ ระยะแพร่กระจาย

(2) เพิ่มรายการยา Lenvatinib ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma และโรคมะเร็งไทรอยด์ระยะแพร่กระจาย พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าว

โดยสถานพยาบาลจะต้องดำเนินการลงทะเบียนแพทย์ผู้ทำการรักษา และผู้ป่วย และส่งข้อมูลตามโปรโตคอลที่กำหนดในระบบ OCPA เพื่อขออนุมัติเบิกค่ายา หรือขอต่ออายุการเบิกค่ายา หรือขอหยุดการใช้ยา ตามแนวทางที่หน่วยงานซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมบัญชีกลางกำหนด และให้เบิกจ่ายค่ายาในระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น รวมทั้งการใช้ยาดังกล่าว ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบ่งชี้ที่กำหนด จึงจะสามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้

2. กำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายา Lenvatinib และ Sorafenib สำหรับการรักษาทุกข้อบ่งชี้ โดยให้เบิกจ่ายค่ายาได้ไม่เกินอัตราที่กำหนด ดังนี้

– Lenvatinib ขนาด 4 มิลลิกรัม และ 10 มิลลิกรัม อัตรา 835 บาทต่อแคปซูล และ 1,552 บาทต่อแคปซูล ตามลำดับ โดยในกรณีที่ใช้ยา 20 มิลลิกรัมต่อวัน ให้เบิกได้เฉพาะความแรง 10 มิลลิกรัมเท่านั้น ทั้งนี้ หลังจากผู้ป่วยใช้ยาครบ 120 วัน และยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ บริษัทผู้จำหน่ายยา จะสนับสนุนยาให้ผู้ป่วยรายนั้น จนกว่าแพทย์จะพิจารณาให้หยุดยา หรือผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา

– Sorafenib ขนาด 200 มิลลิกรัม อัตรา 319 บาทต่อเม็ด ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยรายเดิมที่ลงทะเบียนขออนุมัติการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าวในระบบ OCPA ก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทผู้จำหน่ายยา จะยังคงสนับสนุนยาหลังจากผู้ป่วยใช้ยาครบ 4 เดือน และยังตอบสนองต่อการรักษาดี

“หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป” น.ส.กุลยา ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top