UOB มองศก.ไทยสดใส คาด GDP โต 3.7% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวจีนฟื้น-บาทแข็ง

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 66 จะขยายตัวได้ 3.7% ในปีนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นายเอ็นริโก้ ทานูวิดฮาฮา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economic and Market Research ธนาคารยูโอบี (UOB) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในแต่ละไตรมาส ยูโอบีจึงประเมินว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะสามารถขยายตัวได้ถึง 3.7% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7% ซึ่งเป็นผลจากรายได้ท่องเที่ยวที่เป็นแรงสนันสนุนหลัก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้มีความสดใส

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว และตั้งแต่ต้นเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่กลับเข้ามาอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลดีให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่ดีจากภาคธุรกิจบริการที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ

โดยมูลค่าการอุปโภคบริโภคระดับครัวเรือน มีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี และค่าใช้จ่ายในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นถึง 15.8% จากการใช้จ่ายที่สูงขึ้นในภาคธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยว สันทนาการ และวัฒนธรรม ดังนั้น ยูโอบีจึงเชื่อมั่นว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะอยู่ที่ 3.7% ในปีนี้ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะช่วยเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่ไปกับภาคส่งออกที่แข็งแกร่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลพวงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางกลับมาเข้าอีกครั้ง หลังจากนโยบายการเปิดพรมแดน จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรก ค่าเงินบาทอาจได้รับผลกระทบจากความท้ายทายของเศรษฐกิจโลกในระดับมหภาค ทำให้เคลื่อนไหวอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนจะกลับมาแข็งแกร่งและไต่ระดับไปถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลัง

นายเอ็นริโก้ กล่าวว่า โดยรวมภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 66 จะอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆ โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจหลักในประเทศ

*อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ขาลง

ตั้งแต่ปี 65 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยได้ขึ้นไปแตะที่จุดสูงสุด ก่อนจะทยอยปรับระดับลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวของระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และกระจายสินค้าของรายการอาหารบางชนิดที่ช่วยลดแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง

สำหรับปี 66 ยูโอบีประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะลอยตัวอยู่ที่ประมาณ 2.7% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) จะขึ้นไปแตะที่ 3.9% ในช่วงครึ่งปีแรก และจะคงค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% ในช่วงครึ่งปีหลัง จากความต้องการบริโภคที่ลดลงเพราะระบบห่วงโซ่อุปทานโลกปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์พลังงานและราคาสินค้าทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ที่ทรงตัว (moderate) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อนี้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประเมินอยู่ที่ 2-3%

*ค่าเงินบาท

ทีมนักวิเคราะห์ของยูโอบี ประเมินว่า ในปีนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย และกับดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้นโยบายการเงินอย่างผ่อนปรนและยืดหยุ่นของธปท. เมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงระดับอัตราดอกเบี้ยทั่วภูมิภาคยังอยู่ในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และการเปิดพรมแดนของจีน จะช่วยบรรเทาความท้าทายเหล่านี้ และส่งผลให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้ เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคนี้

ยูโอบี ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะกลับมาเกินดุลอีกครั้งที่ 2.8% ของ GDP ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้ค่าเงินบาทซึ่งอ่อนตัวและเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรก จะกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสสุดท้าย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top