อีสท์สปริง จับจังหวะลดความเสี่ยงตลาดผันผวนจ่อออกอีกกองบอนด์ไทย 14-20 ก.พ.

นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทประสบความสำเร็จจากการเสนอขาย “กองทุนเปิดอีสท์สปริง พันธบัตรรัฐบาล 1Y6” (ES-GOV1Y6) ซึ่งเป็นกองทุนประเภทเทอมฟันด์ ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปี โดยสามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนความต้องการของนักลงทุนจำนวนมากที่กำลังมองหาโอกาสรับผลตอบแทนที่แน่นอนภายใต้ความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว บริษัทฯ จึงเตรียมเปิดเสนอขาย “กองทุนเปิดอีสท์สปริงพันธบัตรรัฐบาล 1Y7” (ES-GOV1Y7) มูลค่าโครงการ 600 ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 14-20 ก.พ.นี้

กองทุนนี้มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในตราสารภาครัฐ อาทิ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก หรือค้ำประกัน ในอัตราส่วนเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งกองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) ทั้งนี้กองทุนจะลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัดส่วน 100% ที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 1.67% ต่อปี โดยหลังจากหักค่าใช้จ่ายประมาณ 0.17 % ต่อปีของNAV แล้ว คาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 1.50 % ต่อปีของ NAV

“เรามองว่าการกระจายพอร์ตการลงทุนไปในพันธบัตรรัฐบาลไทย เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่ช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมจากสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวน เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดีจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภค รวมถึงมาตรการทางการคลังที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ “

นางสาวดารบุษป์ กล่าว

สำหรับกองทุน ES-GOV1Y7 เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารภาครัฐ จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก โดยจะลงทุนครั้งเดียว และถือทรัพย์สินที่ลงทุนจนครบอายุโครงการ (Buy and Hold) โดยบริษัทฯ จะดำเนินการให้มีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติ และทำการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งจำนวนของผู้ถือหน่วยทุกราย ไปยังกองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ หรือกองทุนรวมตลาดเงินอื่นที่บริษัทจัดการเปิดให้บริการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ในวันทำการก่อนวันสิ้นสุดอายุโครงการ

อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้ โดยผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนนี้ในช่วงเวลา 1 ปีได้ ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก และบริษัทจัดการจะสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนได้ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ทำให้ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top