CHASE โชว์ผลงานปี 65 โกยเงินพอร์ต NPLs โตพุ่ง-อัตราค่าคอมทวงหนี้สูง RS ยันถือหุ้นยาว

บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย (CHASE) เปิดกระแสเงินสดจากพอร์ต NPLs เติบโตกว่า 70% ในปี 65 หรือมูลค่ารวมกว่า 287 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจบริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินได้อัตราค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 21.6% ในงวด 9 เดือแรก พร้อมนำเงินจากการระดมทุนขยายธุรกิจ ตั้งเป้าซื้อ NPLs ปีละ 1,000 ล้านบาท และขยายทีมงานเร่งรัดติดตามหนี้สินเพื่อสร้างผลกำไรให้เติบโตก้าวกระโดด

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHASE เปิดเผยว่า ในการดำเนินธุนกิจ AMC บริษัทต้องนำเงินไปซื้อพอร์ตหนี้เสียจากทางธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ยิ่งจัดเก็บหนี้ได้จากพอร์ต NPLs ที่ซื้อมาได้มากก็ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเงินสดที่เก็บได้เทียบกับเงินลงทุน CHASE มีศักยภาพจัดเก็บหนี้อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุนสำหรับพอร์ต NPLs ในปีเดียวกัน ซึ่งในอดีตสามารถเก็บเงินสดได้มากถึง 252% เมื่อเทียบกับเงินลงทุน

สำหรับพอร์ต NPLs ที่ซื้อมาในปี 65 และในรอบ 9 เดือนปี 65 บริษัทสามารถจัดเก็บกระแสเงินสดจากพอร์ต NPLs ได้กว่า 287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรอบ 9 เดือนปี 64 ที่จัดเก็บได้ 167 ล้านบาทถึง 70%

ส่วนธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน (Collection) บริษัทที่ให้บริการจะได้รับค่าจ้างเป็นค่าคอมมิชชั่นจากการทวงถามหนี้ เช่น ตามเก็บหนี้ได้ 100 บาท ก็อาจจะได้รับคอมมิชชั่นจากทางธนาคารประมาณ 7 บาท เป็นต้น สำหรับ CHASE ได้รับอัตราค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 21.6% สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 65 ถือว่าสูงมากในอุตสาหกรรมนี้ เป็นผลจากความชำนาญที่คร่ำหวอดในวงการและแน่นด้วยประสบการณ์ ส่งผลให้สามารถตามเก็บหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับงานทวงถามหนี้ที่มีความท้าทายสูง เช่น เป็นลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้มานานแล้ว บางครั้งไม่สามารถติดตามตัวลูกหนี้ได้ หรือบางครั้งลูกหนี้มีปัญหาในการชำระหนี้ งานเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง รวมถึงบางครั้งอาจต้องใช้การบังคับใช้ทางกฎหมาย

ปัจจุบัน CHASE มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนายประชา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และ บมจ.อาร์เอส (RS) ซึ่งจะถือหุ้นประมาณ 51% และ 20% ตามลำดับ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RS ยืนยันว่าจะไม่ขายหุ้นเพิ่มเติมจากที่จะเสนอขายพร้อมกับ IPO และจะคงสัดส่วนการถือหุ้นใน CHASE ต่อไป

นายสุรชัย ย้ำว่า “ตั้งแต่ในปี 64 ที่ RS เข้าลงทุนใน CHASE ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ร่วมกัน ทั้งการเตรียมความพร้อมของเงินทุน และการยกระดับระบบบริหารงานภายใน โดยเล็งเห็นว่าหลังจากเข้าระดมทุน IPO แล้วยังมีโอกาสทางธุรกิจระหว่าง CHASE และ RS ที่จะร่วมมือกันอีกมาก มั่นใจศักยภาพของ CHASE ในฐานะผู้นำการให้บริการบริหารจัดการหนี้สินอย่างครบวงจร ผสานกับโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ที่แข็งแกร่งของ RS จะทำให้เกิดการเติบโตร่วมกันในหลายมิติ ทั้งในแง่การใช้สื่อ และการขยายฐานลูกค้า

ทั้งนี้ หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ RS จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 20.35% เพราะเป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Investment) ในระยะยาว ดังนั้น หุ้นในส่วนที่ไม่ติด Silent ทั้งหมด 331 ล้านหุ้นของ RS ดังนั้นจะไม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น CHASE ออกมาหลัง IPO โดย RS พร้อมสนับสนุนความสำเร็จของ CHASE ในก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง

นายประชา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา CHASE ปล่อยสินเชื่อเพื่อความหวัง (Hope Loan) ให้กับลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียแล้ว ซึ่งไม่มีสถาบันการเงินอื่นใดให้โอกาสกับลูกหนี้เช่นเดียวกับที่เราได้ทำ โดยในอดีตบริษัทจะสามารถก้าวถึงจุดคุ้มทุน (Break Even) จากการติดตามเงินสด Hope Loan ได้ในปีที่ 5 หรือ 6 ของพอร์ตในแต่ละปี แต่ภายหลังบริษัทได้ปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจ ชะลอและหยุดให้บริการ Hope Loan และนำเงินทุนมาใช้ดำเนินธุรกิจ AMC ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโต ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นภายหลังการเข้าตลาดฯ ได้เต็มที่มากกว่า ดังนั้น เราจึงวางแผนที่จะขยายทั้งธุรกิจ AMC และธุรกิจ Collection โดยตั้งเป้าที่จะซื้อ NPLs ปีละ 1,000 ล้านบาท พร้อมขยายทีมเร่งรัดติดตามหนี้สินเพื่อให้บริการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อรองรับการติดตามทวงถามหนี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top