รัสเซียจวกมาครงตีสองหน้า หลังโวอยากให้รัสเซียแพ้สงครามยูเครน

รัสเซียได้ออกมาตำหนิประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส จากกรณีที่กล่าวว่าต้องการเห็นความพ่ายแพ้ของรัสเซีย โดยชี้ว่ารัสเซียยังคงจดจำชะตากรรมของ นโปเลียน โบนาปาร์ต ได้เป็นอย่างดี พร้อมกล่าวหาว่าปธน.มาครงดำเนินการทางการทูตแบบตีสองหน้ากับรัสเซีย

การตอบโต้ดังกล่าวมีขึ้น หลังปธน.มาครงได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เลอ ชัวร์นาล ดู ดิมงช์ (Le Journal du Dimanche) ของฝรั่งเศสว่า ต้องการให้รัสเซียพ่ายแพ้ในยูเครน แต่ไม่เคยต้องการที่จะบดขยี้รัสเซีย

นางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “เกี่ยวกับคำว่า ‘ไม่เคย’ นั้น ฝรั่งเศสไม่ได้มีจุดเริ่มต้นที่ปธน.มาครง และพระศพของนโปเลียน ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งยังฝังอยู่ในใจกลางกรุงปารีส ฝรั่งเศสและรัสเซียควรตระหนักถึงเรื่องนี้”

“โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ปธน.มาครงทำนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย” นางซาคาโรวากล่าว พร้อมเสริมว่าคำพูดของปธน.มาครงแสดงให้เห็นว่ากลุ่มชาติตะวันตกร่วมในการหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันนั้น ปธน.มาครงก็พยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะพบปะกับผู้นำรัสเซีย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ว่า ปธน.มาครงถูกวิจารณ์จากชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) บางประเทศ กรณีการแสดงความคิดเห็นที่ผสมปนเปกันเกี่ยวกับนโยบายของเขาในสงครามหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งบางส่วนมองว่าฝรั่งเศสเป็นจุดอ่อนในกลุ่มพันธมิตรตะวันตก

รายงานระบุว่า ปธน.มาครงได้ออกมากล่าวเมื่อวันศุกร์ (17 ก.พ.) เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรเพิ่มการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน แต่ก็ได้กล่าวด้วยว่า ไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และควรจะต้องมีการเจรจากันเกิดขึ้นในที่สุด

ปธน.มาครงกล่าวว่า “ผมขอพูดให้ชัดเจนว่า ผมไม่เชื่อมั่นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเลยแม้แต่วินาทีเดียว และเมื่อใดก็ตามที่ผมได้ยินผู้คนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั้น ผมก็ถามพวกเขาว่า เพื่อการเปลี่ยนแปลงอะไร ใครจะเป็นคนต่อไป ใครจะเป็นผู้นำของคุณ”

ทั้งนี้ ปธน.มาครงได้ชี้แจงถึงการแสดงความเห็นดังกล่าวว่า เขาพูดว่าเขาไม่เชื่อว่าทางออกที่เป็นประชาธิปไตยจากภายในภาคประชาสังคมจะเกิดขึ้นได้ในรัสเซีย หลังจากจุดยืนที่แข็งกระด้างและความขัดแย้งหลายต่อหลายปีของรัสเซีย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top