ตลาด “Private Equity” ในเอเชียทรุด 44% ในปี 65 เซ่นพิษเงินเฟ้อ-การเมืองรุมเร้า

เบน แอนด์ คอมปะนี (Bain & Company) บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการจากสหรัฐระบุในวันนี้ (28 มี.ค.) ว่า ธุรกิจลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทรุดตัวลงในปี 2565 เนื่องจากนักลงทุนมีความต้องการเสี่ยงลดน้อยลง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ เบน แอนด์ คอมปะนีระบุในรายงานเกี่ยวกับธุรกิจหุ้นนอกตลาดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2566 ว่า มูลค่าการทำข้อตกลงหุ้นนอกตลาดทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปรับตัวลง 44% สู่ระดับ 1.98 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 เทียบกับ 3.54 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2564 โดยเกือบ 70% ของบริษัทบริหารกองทุนที่เข้าร่วมตอบแบบสอบถามของเบน แอนด์ คอมปะนีคาดการณ์ว่า แนวโน้มเชิงลบนี้จะดำเนินไปจนถึงปี 2567

เบน แอนด์ คอมปะนีระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่มีความไม่แน่นอน ควบคู่ไปกับต้นทุนที่สูงขึ้นและผลประกอบการบริษัทที่ย่ำแย่ลง ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

“นักลงทุนตระหนักได้ถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเติบโตแบบชะลอตัว เงินเฟ้อสูงยิ่งขึ้น และความไม่แน่นอนในอนาคต ดังนั้นจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน โดยมองว่า สถานการณ์ในอดีตที่ผ่านพ้นมาด้วยดีนั้นไม่ได้เป็นการรับประกันสถานการณ์ในปี 2566 และหลังจากนั้น” คณะผู้จัดทำรายงานจากฝ่ายหุ้นนอกตลาดของเบน แอนด์ คอมปะนี ซึ่งรวมถึงนางกิกิ หยาง ระบุในรายงาน

“หากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมหภาค ผลประกอบการบริษัทที่อ่อนแอ และการทรุดตัวลงของการทำข้อตกลงด้านการลงทุน ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 2565 นั้น ยังคงดำเนินต่อไป มูลค่าการลงทุนในหุ้นนอกตลาดก็จะหดตัวลงต่อไป เนื่องจากกลุ่มผู้บริหารกองทุนเลือกที่จะรอดูสถานการณ์ก่อน”

เบน แอนด์ คอมปะนี ระบุ

นอกจากนี้ เบน แอนด์ คอมปะนีเปิดเผยด้วยว่า มูลค่าการลงทุนในหุ้นนอกตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นทรุดตัวลง 53% เนื่องจากนักลงทุนเผชิญปัญหาจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของจีน ส่งผลให้การลงทุนทรุดตัวลงเป็นวงกว้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมูลค่าการลงทุนในหุ้นนอกตลาดในจีนและอินเดียลดลงรวมกัน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top