SCB EIC ชี้ H2/66 แนวโน้มส่งออกไทยเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น คาดทั้งปีโต 1.2%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน มี.ค.66 อยู่ที่ 27,654.4 ล้านดอลลาร์สูงสุดในรอบปี และนับเป็นสถิติมูลค่าการส่งออกรายเดือนที่สูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่เดือนมี.ค.65 ที่มูลค่าการส่งออก อยู่ที่ระดับ 28,000 ล้านดอลลาร์ และแม้การส่งออกในเดือนมี.ค. 66 ยังหดตัว -4.2% แต่ก็หดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ -14%

ด้านการส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือน มี.ค. ฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยกลุ่มสินค้าเกษตรขยายตัว 1.2% โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน ที่ 7.1% มีเพียงกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว -5.9%ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่ถือว่าหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับ -6.2% ในเดือน ก.พ.66 ขณะที่ดุลการค้าในเดือนมี.ค.66 อยู่ที่ 2,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน

SCB EIC ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้คาดว่าจะยังหดตัวในไตรมาส 2 ตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวแบบชะลอลง และปัจจัยจากฐานสูงในปีก่อน โดยคาดว่าทั้งปี 2566 การส่งออกของไทยจะยังขยายตัวได้ 1.2%

อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกไทยยังเปราะบางตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก แต่ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณบวกจาก (1) ดัชนี Flash Manufacturing PMI ของสหรัฐ ในเดือน เม.ย. ที่กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน (2) มูลค่าการค้าของจีนในเดือน มี.ค. พลิกกลับมาขยายตัวสูง 14.8% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งคาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีน มีแนวโน้มจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ตามอุปสงค์จากจีนที่ทยอยฟื้นตัว และ (3) ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน เม.ย. หดตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกที่ -11.0%YOY

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (รวมเซมิคอนดักเตอร์) หดตัวมากขึ้น สะท้อนอุปสงค์โลกที่ชะลอลงมาก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับมุมมองปริมาณการค้าโลกในปี 2566 เพิ่มเป็น 1.7% เทียบประมาณการ ณ เดือน ต.ค.65 ที่ 1.0% สะท้อนทิศทางการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 2.6% ทั้งนี้ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นเป็น 3.2% ในปี 2567 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยอุปสงค์จากคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย (รวมจีน) มีแนวโน้มขยายตัว

“ดังนั้น แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทย จะยังน่าห่วงในช่วงครึ่งแรกของปี แต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้น และกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยกระทรวงพาณิชย์ คงประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะขยายตัวที่ 1-2%” บทวิเคราะห์ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top