สศค. เผยศก.ไทยมี.ค.ได้ท่องเที่ยว-เกษตร-เงินเฟ้อลดหนุน แม้ส่งออกยังหดตัว

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมี.ค.66 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และภาคการเกษตรที่ขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 20.1% การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากเล็กน้อยช่วงเดียวกันปีก่อน -0.9% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 2.1%

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 52.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดในรอบ 37 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.2% และ -2.5% ตามลำดับ

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -2.2% และ -12.6% ตามลำดับ สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -0.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1.7% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 29% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -3.5%

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้า หดตัวแต่ในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.2% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.01% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้หลายรายการ อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง น้ำตาลทราย ข้าว เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลง

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว อาทิ ตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ขยายตัวถึง 228%

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมีนาคม 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 9.9% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 1.2% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา หมวดไม้ผล และหมวดปศุสัตว์ เป็นต้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 97.8 ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี จากระดับ 96.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว

สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมีนาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.22 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 953.0% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 22.4% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 2.83% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.75% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 61.1% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 0.69% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 224.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top