GABLE เปิดเทรดวันแรกที่ 7.30 บาท เหนือจอง 14.24%

GABLE เปิดเทรดวันแรกที่ 7.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.91 บาท (+14.24 %) จากราคา IPO ที่ 6.39

บล.โกลเบล็ก ประเมินราคาเหมาะสม บมจ.จีเอเบิล (GABLE) ปี 66 ที่ 8.60 บาท โดยประเมินด้วยวิธี Prospective PER ที่ระดับ 20.4x และคิดเป็น Price per Earning to Growth Ratio (PEG) ที่ระดับ 1.1x เท่ากับกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้บริการโซลูชั่นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ประกอบกับเราคาดกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 66 ราว 0.42 บาทต่อหุ้น

GABLE ประกอบธุรกิจให้บริการโซลูชั่นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลครบวงจร แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) โซลูชั่นระดับองค์กร 2) โซลูชั่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3) บริการซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทเอง โดยวัตถุประสงค์ของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อ 1) ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 2) ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และ 3) เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

ประเด็นสำคัญในการลงทุน

– ผลประกอบการช่วงปี 63-65 เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 27% ต่อปี: ช่วงปี 63-65 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 5,177 ลบ. 4,939 ลบ. และ 4,731 ลบ. ตามลำดับ หดตัวเฉลี่ย (CAGR) 4% ต่อปี โดยหลักมาจากรายได้กลุ่มธุรกิจโซลูชั่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่มที่ลดลง โดยสัดส่วนยอดขายดังกล่าวลดลงจาก 36% ในปี 63 สู่ 22% ในปี 65 เนื่องจากยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของ Microsoft เนื่องจากมีมาร์จิ้นที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจหลักอื่นๆยังคงเติบโตได้ดีเฉลี่ย (CAGR) 6% ต่อปี และสะท้อน %GPM ปรับดีขึ้นสู่ระดับ 18.3%, 19.0% และ 21.2% ตามลำดับ ส่งผลให้ช่วงปี 63-65 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 166 ลบ. 245 ลบ. และ 268 ลบ. เติบโตเฉลี่ย 27% ต่อปี

– คาดผลประกอบการปี 66-67 เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 18.4% ต่อปี: เราคาดรายได้จากการดำเนินงานช่วงปี 66-67 ราว 5,364 ลบ. และ 5,847 ลบ. ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ย (CAGR) เฉลี่ย 11% ต่อปี เป็นไปในทิศทางเดียวกับมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทในปี 66-67 ที่คาดจะเติบโตราว 11-13% ต่อปี ประกอบกับบริษัทมี Backlog ณ ปลายปี 65 ราว 4.1 พันลบ. ทยอยรับรู้ 1-2 ปีจากนี้ และยังมีรายได้ประจำซึ่งมีสัดส่วนราว 50% ของรายได้รวม อาทิ ค่าบำรุงรักษาระบบ การให้บริการเช่าใช้ซอฟต์แวร์ และการให้บริการบุคลากร ส่วน %GPM มีแนวโน้มดีขึ้นสู่ 21.60-22.17% จากแผนขยายงานในส่วนซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยกลุ่มของบริษัทเองซึ่งมี %GPM สูงกว่า 50% โดยคาดสัดส่วนรายได้ดังกล่าวจะเพิ่มจากระดับ 1% สู่ 4% ส่งผลให้เราคาดกำไรสุทธิปี 66-67 ราว 301 ลบ. และ 376 ลบ. ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 18.4% ต่อปี

– แนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทช่วงปี 66-69 โตเฉลี่ย (CAGR) 12.8% ต่อปี: จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ระบุว่ามูลค่าการใช้จ่ายในตลาดไอทีของประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากองค์กรธุรกิจเริ่มพัฒนาสร้างเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ของตนเองเพิ่มมากขึ้นแทนการซื้อ อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลยังเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญอันดับต้นๆ ขององค์กร ตลอดจนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงมีการมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมความปลอดภัย รวมถึงการลงทุนในอุปกรณ์เทคโนโลยี โดยการใช้จ่ายด้านไอทีเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทช่วงปี 66-69 เติบโตเฉลี่ย (CAGR) 12.8% ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่และอยู่ในภาคธุรกิจที่มีมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีเติบโตสูง เช่น ธุรกิจการเงินและธนาคาร และธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัท

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top