จีนเผย CPI เดือนเม.ย.เพิ่มเพียง 0.1%, PPI ลดลง 3.6%

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนเม.ย. ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ NBS ระบุว่า ดัชนี CPI เดือนเม.ย.ของจีนขยับขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 2 ปีหรือนับตั้งแต่ต้นปี 2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนมี.ค.

ส่วนดัชนี PPI เดือนเม.ย.ปรับตัวลง 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจลดลง 3.2% หลังจากที่ปรับลง 2.5% ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี PPI เดือนพ.ค.ปีนี้ปรับตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 7 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจในภาคโรงงานและหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจของจีนยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ตัดสินใจยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้วก็ตาม

เศรษฐกิจจีนขยายตัว 4.5% ในไตรมาส 1/2566 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.0% โดยได้แรงหนุนจากการยุติการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกันในหลายภาคส่วน โดยข้อมูลระบุว่า กิจกรรมในภาคการผลิตหดตัวลงและการนำเข้าปรับตัวลงในเดือนเม.ย.

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top