สหรัฐสั่งแบงก์ใหญ่ 113 แห่งจ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษนำเงินเข้ากองทุนรับประกันเงินฝาก

บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี (11 พ.ค.) ว่า ธนาคารรายใหญ่ที่สุดประมาณ 113 แห่งของสหรัฐจะต้องร่วมในการจ่ายเงินสมทบจำนวน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่กองทุนรับประกันเงินฝาก (Deposit Insurance Fund) หลังเงินทุนดังกล่าวลดลงหลังจากการล่มสลายของธนาคารสหรัฐหลายแห่งเมื่อไม่นานมานี้

FDIC ระบุว่า ธนาคารที่มีเงินฝากที่ไม่ได้รับประกัน (uninsured deposits) มากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ จะต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียมการประเมินพิเศษ” (special assessment fee) ในอัตรา 0.125% ของยอดเงินฝากที่ไม่ได้รับประกัน ณ สิ้นปี 2565

ทั้งนี้ FDIC ระบุว่า แม้ว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับธนาคารทุกแห่ง แต่ในทางปฏิบัติแล้วจะมีผลกระทบกับกลุ่มธนาคารที่มีสินทรัพย์มากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครอบคลุมมากกว่า 95% ของเงินทุนที่ทาง FDIC ต้องการ ส่วนธนาคารที่มีสินทรัพย์น้อยกว่า 5 พันล้านดอลลาร์จะไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ FDIC กล่าวว่า ค่าธรรมเนียม 0.125% นั้นจะเรียกเก็บเป็นเวลากว่า 8 ไตรมาสซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2567 แต่ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนหากเม็ดเงินในกองทุนรับประกันเงินฝากมีการเปลี่ยนแปลง โดยการกำหนดเวลาในระยะยาวสำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้นมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบที่มีต่อสภาพคล่องของธนาคาร และคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเงินทุนของธนาคาร”

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวของ FDIC มีเป้าหมายที่จะให้ธนาคารรายใหญ่ร่วมกันแบกรับต้นทุนจำนวนมากที่ FDIC ต้องใช้ในการรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) หลังจากธนาคารทั้ง 2 แห่งล้มละลายในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดย SVB และ SB ซึ่งมีเงินฝากที่ไม่มีประกันในระดับที่สูงมากนั้นล่มสลายลง หลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารทั้ง 2 แห่ง

FDIC ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 เม็ดเงินในกองทุนรับประกันเงินฝากอยู่ที่ 1.282 แสนล้านดอลลาร์ โดยกองทุนดังกล่าวจะรับประกันเงินฝากของลูกค้าธนาคารในวงเงิน 250,000 ดอลลาร์

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ธนาคารที่ได้รับการคุ้มครองโดย FDIC จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายไตรมาสเข้าสู่กองทุนรับประกันเงินฝาก ซึ่งจะช่วยปกป้องเงินฝากของลูกค้าธนาคารในวงเงินไม่เกิน 250,000 ดอลลาร์ในกรณีที่ธนาคารล้มละลาย แต่ FDIC ได้ตัดสินใจเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มขึ้น หลังจาก FDIC ใช้เงินกองทุนประกันเงินฝากไปราว 18% หลังการล้มละลายของ SVB และ SB

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top