RATCH ลุ้นปิดดีลซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าฯ ไพตัน ดันผลงาน Q2/66 โต YoY

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดจะสามารถปิดดีลซื้อหุ้น 36.26% ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนไพตัน อิโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,045 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จได้ในเดือนมิ.ย.66 ทำให้จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในไตรมาส 2 นี้บางส่วนก่อน และจะรับรู้รายได้เข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ประมาณไตรมาส 3/66 เป็นต้นไป โดยบริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้ราว 2,500 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ยังรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่ที่ได้เดินเครื่องพาณิชย์ (COD) ไปแล้วเมื่อไตรมาส 1/66 เข้ามาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานลมลินคอล์น แก็ป 1&2 กำลังการผลิต 212 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสแนปเปอร์ พอยท์ กำลังการผลิต 154 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าราช เอ็นเนอร์จี ระยอง กำลังการผลิต 98 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำซ็องเกียง 2 กำลังการผลิต 17.10 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย กำลังการผลิตติดตั้ง 31.20 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 7.5 ตันต่อชั่วโมง

นอกจากนี้เตรียมรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Rooftop ดำเนินการภายใต้ บมจ.สหโคเจน (ชลบุรี) หรือ SCG ที่จะมีการทยอย COD รวม 9 โครงการ ภายในเดือนพ.ค.66, ก.ย.66 และพ.ย.66, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม อีโค่วิน เวียดนาม กำลังการผลิตติดตั้ง 29.7 เมกะวัตต์ กำหนด COD เดือนมิ.ย.นี้

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/66 ได้แก่ โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง สปป.ลาว (บริษัทฯ ถือหุ้น 25%) ปัจจุบันมีความคืบหน้างานก่อสร้างแล้ว 62.15% ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 67 จะมีด้วยกันจำนวน 8 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 518.66 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าตามแผนงาน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาลาบังก้า ในฟิลิปปินส์ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 36.33 เมกะวัตต์ กำลังดำเนินการจัดหาเงินกู้โครงการ และจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จในการบุกเบิกธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์

บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยยังคงงบลงทุนรวมในปีนี้ไว้ที่ 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็น จำนวน 25,000 ล้านบาท รองรับธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ ทั้งประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะเน้นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก และพลังงานทดแทน ไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ ในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

อีกจำนวน 6,000 ล้านบาท รองรับธุรกิจ Non-Power โดยมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ กลุ่มประเทศยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และขยายฐานธุรกิจด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็บริหารประสิทธิภาพสินทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงของกระแสเงินสดและรายได้ พร้อมทั้งจัดเตรียมแผนการจัดหาเงินทุน โดยพิจารณาเครื่องมือทางการเงินและต้นทุนที่เหมาะสมกับประเภทโครงการ ซึ่งจะช่วยให้แผนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

นางสาวชูศรี กล่าวว่า สำหรับนโยบายลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนของรัฐบาลใหม่ บริษัทฯ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถกำกับดูแล (Regulator) ค่าไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือนร้อนในภาวะที่ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งบริษัทฯ ก็เห็นด้วยว่าควรจะทำ แต่รัฐบาลก็ควรดูให้ดีว่าจะกำกับดูแลอย่างไร ในแง่ไหนเพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน รวมถึงการลงทุนของประเทศไปด้วยกันได้

ขณะที่ยังเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาบริหาร จะยังคงผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องของ Green โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งบริษัทฯ ยังคงดำเนินการตามนโยบาย 3S คือ Strength, Synergy, Sustaninability เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top