TOP รับ Q2/66 ส่อถูก Stock loss กดดันก่อนพลิกฟื้นในครึ่งปีหลังตามตลาดเข้าสู่สมดุล

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 ย่อตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 จากมีโอกาสเกิดผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน (Stock loss) ต่อเนื่อง หลังค่าการกลั่นสิงคโปร์ (GRM) ย่อตัวลงมาอยู่ที่ 3.40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 8.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงหลังจากซัพพลายเพิ่มขึ้นมาในตลาด ทั้งจีนส่งออกเพิ่มเติม และโรงกลั่นในฝั่งยุโรปสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้มีการประท้วงในฝรั่งเศล รวมถึงรัสเซียยังสามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังประเทศอื่นๆ ได้

ตลาดน้ำมันดิบในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่มีปริมาณส่วนเกินเล็กน้อย (Surplus) แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังนี้จะเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น เนื่องจากแม้กำลังการผลิตของกลุ่มนอกโอเปก (Non-OPEC) จะขึ้นมาค่อนข้างมากในปีนี้ประมาณ 2,000 บาร์เรล/วัน และกำลังการผลิตของรัสเซียหายไปจากตลาดเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลุ่มโอกเปก (OPEC) ล่าสุดยืนยันนโยบายรักษาสมดุลตลาดด้วยการลดกำลังการผลิตลง ทำให้คาดว่าซัพพลายในปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาราว 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

ขณะที่ดีมานด์ยังเติบโตได้ค่อนข้างดี อิงจากข้อมูลของ EIA, IEA และ OPEC คาดการณ์ว่าดีมานด์ในปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อน ประมาณ 2 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากประเทศจีนกลับมาเปิดประเทศ และยกเลิกนโยบาย Zero covid สนับสนุนการเดินทางให้เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น

นายณัฐพล กล่าวว่า ครึ่งปีหลังหากสถานการณ์เป็นไปตามคาดการณ์ หรือโอเปกออกมาลดกำลังการผลิตลง ก็จะทำให้ตลาดน้ำมันดิบเข้าสู่สมดุลมากขึ้น สนับสนุนให้บริษัทมีโอกาสพลิกกลับมามีกำไรจากสต็อกน้ำมัน (Stock Gain)

“ทิศทางครึ่งปีหลังนี้ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ GRM สิงคโปร์อยู่ในระดับต่ำ เริ่มมีสัญญาณที่ดี จากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ต้องส่งออก เช่นใน North Asia ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์ (spread) รวมถึง GRM ฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง โดยบริษัทฯ ยังมองภาพดีมานด์ทั้ง 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เติบโตได้ดี”

พร้อมกันนี้โรงกลั่น มองดีมานด์ยังเติบโตดี ส่วนกำลังการผลิตใหม่ที่จะเข้ามาก็คาดอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน และคาดจะเริ่มเห็นโรงกลั่นต่างๆ ชะลอการลงทุนในปีหน้า จากความกังวลในเรื่องของดีมานด์

– น้ำมันเบนซิน ดีมานด์ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในฝั่งของเอเชีย และสต็อกน้ำมันเบนซินทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปัจจุบันก็เข้าสู่ช่วงหน้าร้อน ทำให้มีดีมานด์มากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยกดดัน จะมาจากการส่งออกของจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงสั้น

– น้ำมันอากาศยาน จำนวนเที่ยวบินทั่วโลกยืนเหนือระดับปี 62 แล้ว ทำให้ดีมานด์เริ่มไต่ระดับเข้าสู่ภาวะปกติ

– น้ำมันดีเซล ดีมานด์ยังเติบโตได้ดีอยู่ โดยสต็อกทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ยังไม่ถึงค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี และปัจจัยลบก็ยังมาจากการส่งออกของจีน แต่คาดครึ่งปีหลังหากตลาดจีนมีดีมานด์ดีขึ้น ก็จะช่วยลดการส่งออกลงไปได้

– น้ำมันเตา ดีมานด์ยังคงยืนเหนือปี 62 จากมีความต้องการใช้ทำไฟฟ้า ในประเทศเมืองร้อน และดีมานด์เดินเรือ

– ปิโตรเคมี สารพาราไซลีน (Px)และเบนซีน ยังเป็นภาวะที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดค่อนข้างมากราว 5.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับดีมานด์ แต่ในระยะสั้นเริ่มเห็นสเปรด หรือมาร์จิ้นของกลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน จากดีมานด์ที่เข้ามาหนุน

– โอเลฟินส์ ภาพซัพพลายก็จะคล้ายๆ กัน แต่เมื่อดูสเปรดฟื้นตัวมาจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 4/65 คาดในช่วงที่เหลือของปีสเปรดยังทรงตัว จากอัพไซด์ยังจำกัด และน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่โปรเจ็คต์ต่างๆ เริ่มลดลง

– น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เริ่มปรับตัวลงมา แต่ยังดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 จากกำลังการผลิตของโรงกลั่นใหม่ อย่างไรก็ตามในช่วงนี้จะมีการปิดซ่อมบำรุงค่อนข้างมาก ก็น่าจะส่งผลดีต่อไตรมาส 2/66

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top