สนข.เตรียมสรุปผลศึกษาโครงข่ายคมนาคมจัดฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้า-สนามบิน

นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่โครงการ ครั้งที่ 2 การนำเสนอผลการศึกษาและแถลงผลงานโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทางเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นายชาครีย์ กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (561 – 80) โดยมุ่งเน้น การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การขนส่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ซึ่งการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (M-MAP) มี 14 สาย รวมระยะทาง 554 กม.

ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง ระยะทาง 211.94 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 สาย ระยะทาง 138.80 กม.และจะดำเนินการในอนาคตอีก 205.67 กม.นั้นเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งการใช้บริการและเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าจะต้องมีความสะดวกมากที่สุด เพื่อจูงให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นและลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

การศึกษาการพัฒนาระบบสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและสนามบิน เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก รวมถึงการจัดเส้นทางระบบขนส่งมวลรอง (Feeder) เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่อยู่ห่างจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเข้ามาส่งยังสถานีรถไฟฟ้าสะดวกมากขึ้น

“การรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเพื่อนำข้อมูลมาบูรณาการ ประกอบการออกแบบการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ให้มีความเหมาะสมตรงกับความต้องการของประชาชน และเป็นไปตามาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องหน่วยงานต่างๆ ยอมรับและร่วมกันนำไปสู่การปฏิบัติ”

หลังจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะสรุปผลการศึกษาภายใน 2-3 เดือน นำเสนอกระทรวงคมนาคม และเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบนำไปดำเนินการ

นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสนข. กล่าวว่า ในการศึกษาฯ จะจัดทำเป็นร่างแผนพัฒนาการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า ตามแผนแม่บท M-MAP เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและสนามบิน (Intermodal Transfer Facility : ITF) ตามาตรฐานสากล โดยมีรถไฟฟ้ารวม 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กม. มีสถานีรวม 381 สถานี

โดยพิจารณาคัดเลือกสถานีที่เปิดให้บริการแล้ว 140 สถานี และสถานีที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 72 สถานี มาประเมินและวิเคราะห์ปัญหาความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ล่าสุดหารือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมแผนพัฒนางบประมาณ 103.5 ล้านบาท สถานีเตาปูน จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 2 สาย (สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน)  ปรับปรุงพื้นจุดจอดรถโดยสารและที่พักคอย ,สถานีบางซื่อ MRT ปรับปรุงการจราจรบริเวณ จุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ , สถานีท่าพระ ปรับปรุง ทางเท้าและจุดจอดรถโดยสารบริเวณ ,สถานีศรีรัช ,สถานีบางแค สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ปรับปรุง ทางเดินเชื่อมต่อป้ายรถโดยสารประจำทาง,  สถานีชุมทางตลิ่งชัน เพิ่มจุดจอดรถจักยาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ในการศึกษา มีแนวคิดพัฒนาระบบขนส่งมวลชนมวลชนรอง (Feeder system) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า จำนวน 81 เส้นทาง แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ

1. ฟีดเดอร์ รองรับการเดินรถที่มีตารางเดินรถแน่นอน (Fixed Route) มีจุดจอด มีเส้นทางเดินรถและตารางเวลาที่แน่นอน จำนวน 36 เส้นทาง ระยะทางรวม 507.7 กม.

2. ฟีดเดอร์ ที่ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน (On Demand) จำนวน 45 เส้นทาง ระยะทางรวม 238.7 กม. ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น (Application) ซึ่งผู้ใช้บริการที่เดินทางในเส้นทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน สามารถโดยสารร่วมทางกันได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นรถใช้พลังงานไฟฟ้า (EV)

โดยฟีดเดอร์เชื่อมสถานีรถไฟฟ้าจะเป็นเส้นทางใหม่ วิ่งจากในซอยที่มีชุมชนแหล่งที่อยู่อาศัยโดยรอบ เพื่อส่งผู้โดยสารเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้สะดวก เป็นรถหมวด 4 โดยจะหารือ กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)เพื่อกำหนดเงื่อนไขทั้งคุณภาพรถ คุณภาพบริการ เส้นทางในการคัดเลือกผู้ประกอบการ ตั้งเป้าในปี 2568 จะเปิดบริการจำนวน 60 เส้นทาง เน้นเส้นทางเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว เช่น สายสีแดง สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ฟีดเดอร์ สถานีละ 1-2 เส้นทาง

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงการเชื่อมต่อบริเวณสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ทำทางลาดเชื่อมกับสถานีดอนเมือง รถไฟสีแดง และปรับย้ายและเพิ่มป้ายรถโดยสารให้เหมาะสม เป็นต้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top