คกก.ประสานงานฯ เร่งตกผลึกนโยบายแถลงต่อสภา ปัดคุยจัดสรรโควต้ารมต.

ศิริกัญญา ตันสกุล

คณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เตรียมจัดทำข้อสรุปที่เป็นจุดร่วมเชิงนโยบายของทุกพรรคเพื่อเสนอให้ที่ประชุม 8 หัวหน้าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาที่ไม่ขัดแย้งต่อ 23 ข้อในเอ็มโอยู

น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 เพื่ออัพเดทการทำงานทั้ง 14 คณะ เพื่อสรุปเสนอต่อที่ประชุมหัวหน้าพรรคพิจารณาในวันที่ 22 มิ.ย.66 โดยมีแนวทางแก้ปัญหา อาทิ การบริหารจัดการแหล่งน้ำ, การส่งออก หนี้ครัวเรือน และการส่งเสริมเอสเอ็มอี, แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด และแผนที่ความเสี่ยงการเกิดไฟป่าและแนวทางป้องกัน, แนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ความมั่นคงด้านไซเบอร์, แนวทางการพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญ การจัดสัดส่วนและกำหนดทิศทางที่เหมาะสม, แนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้า และการต่อเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล, แนวทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรมแมพการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า MOU 23 ข้อจะเป็นภาพใหญ่ในการจัดทำนโยบาย โดยจะต้องลงรายละเอียดแต่ละกระทรวง โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแต่ละพรรคในการนำเสนอความเป็นเจ้ากระทรวง อาจจะเพิ่มเติมจาก 23 ข้อของMOU แต่จะต้องไม่ขัดแย้งกัน เพราะทั้งหมดจะต้องนำเสนอต่อหัวหน้าพรรคอีกครั้ง สำหรับการประชุมของคณะกรรมการฯ นั้นเพื่อให้นโยบายที่แต่ละพรรคเสนอมีแนวทางที่ตรงกัน

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้มีการหารือ สถานการณ์การเมือง หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองส.ส.ทั้ง 500 คน โดยมองว่า เป็นการทำหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการต่างๆ ทำได้รวดเร็วมากขึ้น วันนี้จึงได้พูดคุยเรื่องปฏิทินการเมือง เพื่อประเมินกรอบการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการจัดสรร ครม.พิธา 1 เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเจรจา

“ได้มีการพูดคุยกันถึงการทำงานของ Transition Team ที่จะปิดตัวลงเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมครั้งสุดท้ายหลังเลือกประธานสภาฯ แล้ว”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ส่วนความคืบหน้าในการเจรจากับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นั้นมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่จะต้องดำเนินการเผื่อให้เกินเป้าไว้ก่อน เพราะอาจเกิดกรณีที่ต้องงดออกเสียง หรือมี ส.ว.เปลี่ยนใจ

ส่วนกรณีที่มีข่าวแกนนำพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อ ส.ส.ชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพื่อให้ที่ประชุมได้โหวตแข่งขันเหมือนในอดีต

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตัวแทนแต่ละพรรคได้นำนโยบายออกมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียเพื่อให้ตกผลึกเป็นแนวทางเดียวกัน โดยวันนี้พรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายใน 4 ประเด็น คือ

1.การตั้งเขตธุรกิจใหม่ นำร่อง 4 จังหวัด คือเชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ และสงขลา

2.ค่าแรงขั้นต่ำที่จะต้องปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท

3.การเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอีผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย.วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท

4.การพัฒนาตลาดทุนให้แข็งแกร่ง เพื่อช่วยภาคเอกชนในการระดมทุน รวมถึงการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าคณะทำงานด้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งจะลงไปรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยยืนยันที่จะสร้างเสถียรภาพของประชาชน ให้อยู่ดีมีสุข กินดีอยู่ดี มีรายได้ที่มั่นคง

“เรื่องภาคใต้อยากให้ทุกคนสบายใจ เราจะสร้างเสถียรภาพให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐ ของประชาชน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง ความเจริญ ถ้าทุกฝ่ายเข้าร่วมกันตามที่ประกาศไว้ ภายในปี 2570 จะเกิดสันติภาพและสันติสุขอย่างยั่งยืน”

พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคถูกพาดพิงเรื่องการแบ่งแยกดินแดนนั้นไม่เป็นความจริง พรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถดำเนินได้อยู่แล้ว ซึ่งในวันที่ 22 มิ.ย.66 นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค จะได้ชี้แจงหลังประชุมร่วมกับหัวหน้าพรรคที่พรรคก้าวไกลแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top