นายกฯ ห่วงฝนทิ้งช่วง-เอลนีโญลากยาวถึง ก.พ. 67 สั่งเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงประเด็นการรับมือกับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์ไว้ ว่า ฝนทิ้งช่วงจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. 66 ต่อเนื่องจนถึงก.พ. 67 โดยปริมาณฝนจะลดลงกว่าค่าปกติประมาณ 5% ประกอบกับภาวะภัยแล้งจากเอลนีโญ

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน ได้ให้ชลประทานทั่วประเทศประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูก ตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริม และควรควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน

ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมส่งน้ำแบบประณีตตามรอบเวรในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในทุกภูมิภาค พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนโดยทันที ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้ได้มากที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า นายกฯ ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่จะได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง ทั้งการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ดี คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนป้องกัน และช่วยเหลือประชาชน ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

กอนช. เกาะติดสถานการณ์ หลังประเมินปริมาณฝนเทียบเคียงปี 62-63

 

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. จะมีการประชุมเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในปี 66 และ 67 จะคล้ายกับสถานการณ์น้ำเมื่อปี 62 ซึ่งเกิดสภาวะเอลนีโญต่อเนื่องจนถึงปี 63 เช่นเดียวกัน

ในที่ประชุม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำสำรองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยใช้ข้อมูลในปี 63 เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี โดยมุ่งกักเก็บน้ำต้นทุนส่งต่อไปยังปี 67 ให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งหากยังคงมีปริมาณฝนน้อยต่อเนื่องถึงปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันคาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณเพียง 60-70% เท่านั้น

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า เนื่องจากมีปริมาณฝนน้อย ส่งผลให้ขณะนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ น้อยมาก เช่น เขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อย ปัจจุบันจึงต้องใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลในการช่วยหล่อเลี้ยงเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีน้ำไหลเข้าเพิ่ม ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลจึงพร่องลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น ในปีนี้จึงต้องมีการเน้นย้ำในเรื่องการรณรงค์ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้เข้าใจสถานการณ์น้ำทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกเพียงหนึ่งรอบเท่านั้น เพื่อสงวนน้ำไว้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รวมถึงป้องกันการยืนต้นตายของไม้ผล ไปจนถึงการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศ โดยขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเพาะปลูกจากฝนทิ้งช่วง

ทั้งนี้ กรมชลประทานยังได้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวเบาที่มีอายุสั้น และเก็บเกี่ยวได้เร็ว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาแหล่งน้ำของตนเอง เพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงด้วย ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำจะเป็นไปอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวเพื่อสำรองน้ำไว้จนถึงปี 67 ให้ได้มากที่สุด เพื่อบริหารความเสี่ยงหากสภาวะเอลนีโญเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 68 ด้วย

สำหรับพื้นที่ประสบภัยแล้ง ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เป็นต้น สทนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top