ไม่รอดแน่! กทม.ใช้ AI ยกระดับ CCTV ตรวจจับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนฟุตบาธ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องปรามการขับขี่บนทางเท้า ว่า กรุงเทพมหานคร ได้นำระบบเทคโนโลยี AI ร่วมกับระบบกล้อง CCTV เข้ามาใช้ในการกวดขันผู้ที่ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า เนื่องจากที่ผ่านมา การใช้เจ้าหน้าที่เทศกิจทำหน้าที่ดักจับ อาจทำให้มีการกระทบกระทั่ง และเกิดความไม่โปร่งใสได้

สำหรับระบบเทคโนโลยี AI ร่วมกับระบบกล้อง CCTV จะมีการเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ ทำให้สามารถทราบว่าทะเบียนรถคันนี้เป็นของใคร อยู่ที่ไหน โดยมีการทดสอบไปแล้ว 5 จุด จากข้อมูลเมื่อวันที่ 12-20 มิ.ย. 66 ได้แก่ 1. ปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ) มีรถจักรยานยนต์ขึ้นบนทางเท้า 2,921 ราย 2. ปากซอยเพชรเกษม 28 มี 1,338 ราย 3. หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ มี 619 ราย 4. ปากซอยเพชรบุรี 9 มี 49 ราย และ 5. ปั้มปตท. เทพารักษ์ มี 19 ราย

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปยืนเฝ้า โปร่งใส มีหลักฐาน ข้อมูลแม่นยำ สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใคร เป็นบุคคลธรรมดา วินมอเตอร์ไซค์ หรือไรเดอร์ โดย กทม. มีนโยบายในการเพิ่มกล้องให้ครบ 100 จุด

“ระบบ AI จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรคน มีหลักฐานชัดเจน หลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง คือตั้งกล้องไว้ มีใครบ้างทำผิดตรงไหนบ้างสามารถใช้ข้อมูลนี้ไปขยายผลต่อได้ และอาจจะไปตามที่ต้นสังกัดเลย ซึ่งค่าปรับ 2,000 บาท อาจจะมีผลในแง่ของการสร้างจิตสำนึกได้ดีขึ้น เพราะคนไม่รู้ว่ากล้องอยู่ที่ไหนบ้าง AI จะประมวลผลภาพ ตรวจสอบทะเบียนว่าใครเป็นเจ้าของ รวบรวมข้อมูลส่งหนังสือแจ้งให้มาเสียค่าปรับที่สำนักงานเขต โดยที่ผ่านมา เราพยายามปรับปรุงทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพิ่มความฉลาดเข้าไป ไม่ต้องลงทุนมาก เพราะใช้กล้องที่มีอยู่แล้วเชื่อมโยงสัญญาณเข้าไป โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์ AI ประมวลผล” นายชัชชาติ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในปีนี้ กทม. จะใช้กล้อง CCTV มาช่วยในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร ปัจจุบันมีระบบไฟจราจรในกรุงเทพฯ ประมาณ 500 จุด หลายจุดเป็นการ Control ด้วย Manual ไม่ได้มีการดูตามปริมาณรถ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน หรือวันเสาร์อาทิตย์ ก็เป็นการตั้งเวลาไว้ ซึ่งบางครั้งไม่สอดคล้องกับความต้องการ

“วันเสาร์-อาทิตย์ เราสามารถใช้กล้องพวกนี้มาดูปริมาณจราจร แล้วก็ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับความต้องการ ก็ทำให้เราใช้พื้นที่ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำกล้องนี้มาเพิ่มเทคโนโลยีในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร ปรับเรื่องการเดินทางให้มีการปล่อยสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรให้ดีขึ้น ปีนี้ก็จะเป็นปีที่เราจะเน้นพวกนี้ให้มากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

ในส่วนของปัญหาด้านกายภาพของถนน เช่น จุดกลับรถที่อยู่ไกล ต้องดูว่าจะสามารถปรับปรุงกายภาพถนนได้หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก ไม่ต้องขับย้อนศร เช่น ซอยย่อยทะลุระหว่างชุมชน เป็นต้น

“ขอให้ทุกคนทราบว่า เรามีกล้อง CCTV พร้อมระบบ AI ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว เหมือนกับเป็นตาวิเศษคอยดูอยู่นะ ต้องฝากพวกเราที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ว่า อย่าไปขับรถบนทางเท้าเลย อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งกับคนเดินเท้า ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งเรื่องค่าปรับ เรื่องอาชีพการงานได้ในอนาคต” นายชัชชาติ กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตรสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กล้อง CCTV พร้อมระบบ AI จะตรวจจับผู้ขับขี่บนทางเท้า โดยระบบ AI จะประมวลผลภาพ ข้อมูลเจ้าของทะเบียนรถ ตามข้อมูลของกรมการขนส่ง โดยส่งข้อมูลเข้าส่วนกลางแสดงผล สำนักเทศกิจจะรวบรวมข้อมูล ทำหนังสือส่งไปยังเจ้าของรถตามทะเบียนบ้าน ที่มีช่องในการเชื่อมต่อกับกรมขนส่งทางบก โดยจะจัดส่ง 2 ครั้ง เมื่อครบ 15 วันแล้ว ยังไม่มีการชำระค่าปรับ จะจัดส่งเป็นครั้งที่ 2 รวมแล้วประมาณ 30 วัน เพื่อให้ผู้ทำผิดจ่ายค่าปรับที่สำนักงานเขต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top