กอนช. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เตรียมพร้อมรับ เอลนีโญ ลากยาว

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จากการรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ปัจจุบันปรากฎการณ์เอนโซได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญแล้ว แต่เนื่องจากยังเป็นเอลนีโญกำลังอ่อน จึงส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกตั้งแต่ช่วงต้นปี 66 จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนมีค่อนข้างน้อย โดยต่ำกว่าค่าปกติ 28% และอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าทุกปี ทำให้ในช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องมาจนถึงฤดูฝน มีการจัดสรรน้ำเพื่อส่งเสริมด้านการเพาะปลูกพืชในจำนวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ภาคเหนือมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ 38% ขณะที่ภาคกลางมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติถึง 55%

ทั้งนี้ จากแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำนวน 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้จัดสรรน้ำไปแล้วจำนวน 2,799 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 51% ของแผนทั้งหมด ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำจำนวนมาก เพื่อเป็นการส่งเสริมการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากไม่สามารถปลูกข้าวนาปีโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักได้จากผลกระทบของเอลนีโญ ขณะนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.84 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 71% ของแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนปีนี้

“ประเทศไทยจะประสบกับสภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง โดยจากเอลนีโญกำลังอ่อนในปัจจุบันจะกลายเป็นเอลนีโญกำลังปานกลางในช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 หรือปลายปีนี้ จึงต้องมีการใช้ฝน ONE MAP เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำต้นฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย.66 โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 46,177 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 65% ของความจุรวม ในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การ 22,635 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 48% ซึ่งปริมาณน้ำใช้การที่คาดการณ์นี้ มีจำนวนน้อยกว่าปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย.65

“หากมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็จะมีน้ำเพียงพอ แต่เนื่องจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า สภาวะเอลนีโญจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงกลางปี 67 และค่อนข้างมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว 2 ปี เพื่อสำรองน้ำล่วงหน้าไว้สำหรับการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ในฤดูแล้งหน้าไปจนถึงส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูฝนปี 67 เพื่อยืนยันผลผลิตให้แก่เกษตรกรด้วย หากเกิดกรณีฝนน้อย” นายบุญสม กล่าว

สำหรับการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในช่วงฤดูฝน กอนช.มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กอนช.ได้ประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้มีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรและเครื่องสูบน้ำระยะไกลจากส่วนกลางเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือ รวมถึง สทนช.ได้มีการประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมแก้ไขปัญหา โดยปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

รวมทั้ง กอนช. ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรการที่ 9 เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติและทางน้ำธรรมชาติ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีการตรวจสอบและวางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 66/67 โดยให้เกษตรกรงดเพาะปลูกพืชต่อเนื่อง เน้นการเพาะปลูกพืชน้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 66 จะยังมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก จึงอาจเกิดอุทกภัยได้ในบางพื้นที่ กอนช. จึงได้มีการดำเนินการตามมาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดย กอนช. มีโครงการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุศูนย์ส่วนหน้าและการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.ขอนแก่น จ.เพชรบุรี จ.ยะลา จ.ลพบุรี และ จ.ปราจีนบุรี โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์นี้ ในวันที่ 29-30 มิ.ย.66 ณ จ.เชียงราย เป็นที่แรก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top