แบงก์ชาติ ผลักดัน FX ecosystem หนุนเพิ่มบทบาทสกุลท้องถิ่น

น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทมีความผันผวนสูง จากทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยเฉพาะในประเทศ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไป 1.6% และมีความผันผวนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย ทั้งนี้ ความผันผวนของค่าเงินบาทได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เนื่องจากตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศหลักเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาคการท่องเที่ยว และสถานการณ์ทางการเมืองไทย เป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้เงินบาทมีความผันผวนเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยเฉพาะอื่นด้วย เช่น ราคาทองคำและการซื้อขายทองคำของคนไทย และการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของการลงทุนในต่างประเทศ

“การที่เงินบาทผันผวน จะมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก 60-70% ซึ่งปัจจัยภายนอก ยากที่จะคาดเดาและบอกทิศทางได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเดาไม่ได้ว่าบาทจะผันผวนไปถึงระดับไหน แต่ ธปท.ได้บอกมาตลอดว่า เราอยากเห็นเห็นบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหวสูงจนกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ธปท.ก็พร้อมจะเข้ามาดูแล เรามีกลไกอยู่” น.ส.พิมพ์พันธ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี แม้ความผันผวนของค่าเงินบาทได้ปรับลดลงแล้วจากช่วงต้นปี แต่ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อโลก รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก และจีน ที่อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนขึ้นในระยะต่อไปได้

  • เดินหน้า FX ecosystem กางแผนงานครึ่งปีหลัง

น.ส.ชนานันท์ สุภาดุลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน ธปท. กล่าวว่า ในระยะข้างหน้าซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (New FX ecosystem) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินได้อย่างยั่งยืน โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความสะดวก และลดต้นทุนการทำธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนของผู้เล่นในตลาด ผ่านแผนงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ผ่อนเกณฑ์ให้ทำธุรกรรมในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี โอนเงินออกนอกประเทศและทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น

โดยในปี 2566 ธปท. มีแผนงานที่ทำเพิ่มเติม ดังนี้

1. สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) ในการค้าขายระหว่างประเทศ

ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคมีสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะประเทศจีน และญี่ปุ่น ขณะที่แนวโน้มทิศทางของเงินสกุลท้องถิ่นและเงินบาทมักเคลื่อนไหวในทางเดียวกัน ธปท. จึงสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเช่น หยวน เยน มาเลเซียริงกิต และอินโดนีเซียรูเปีย ให้เป็นอีกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

โดยแผนงานในระยะถัดไปของ ธปท. จะครอบคลุมถึงการร่วมมือกับธนาคารกลางในภูมิภาค เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์เพิ่มเติม การร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อหาแนวทางอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ

2. ผ่อนเกณฑ์โอนเงินออกนอกประเทศให้คล่องตัวขึ้น ได้แก่

(1) ขยายวงเงินเพื่อวัตถุประสงค์ให้เปล่าจาก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

(2) อนุญาตให้บริษัทไทยโอนเงินไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่อง (Notional Pooling)

(3) ขยายวงเงินลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยไม่ผ่านตัวแทน จาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3. เพิ่มความคล่องตัวให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่

(1) ขยายขอบเขตโครงการ Non-Resident Qualified Company (NRQC) ให้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจชำระเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมโครงการได้ โดยโครงการ NRQC มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยได้คล่องตัวขึ้น อีกทั้งปรับขั้นตอนการสมัคร NRQC ให้สะดวกขึ้น

(2) ให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในหลักทรัพย์ไทย ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินไทยได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องทำธุรกรรมผ่านตัวกลางที่เป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศเท่านั้น

การดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

ทั้งนี้ การผลักดัน FX ecosystem เป็นนโยบายระยะยาวที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบจากค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก

  • หนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำการค้าลดความผันผวนดอลลาร์

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) ว่า ประเทศไทย มีการทำการค้ากับประเทศในภูมิภาคในสัดส่วนค่อนข้างสูง แต่กลับมีการใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐในการชำระเงินระหว่างกันในสัดส่วนสูงถึงเกือบ 80% ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยลดผลกระทบอันเกิดจากความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำการค้าขายระหว่างประเทศได้

โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้สนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการทำการค้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำ Bilateral Swap Agreement (BSA) เป็นกลไกช่วยเหลือกรณีที่ตลาดขาดสภาพคล่อง รวมทั้งผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์บริหารสภาพคล่องระหว่างกันได้ การร่วมกับธนาคารกลางอื่นในการผ่อนคลายเกณฑ์ Appointed Cross Currency Dealer (ACCD) รวมทั้งการผลักดันให้เกิด Digital Payment Connectivity กับประเทศในภูมิภาค

นางอลิศรา กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในระยะถัดไปนั้น ธปท. มีแผนงานสำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ที่จะผลักดันต่อเนื่องผ่านความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ โดยในส่วนของสกุลเงินหยวนกับประเทศจีนนั้น จะเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการใช้เงินสกุลหยวน โดยร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศจีน เพื่อหารือการผ่อนคลายหลักเกณฑ์หรืออำนวยความสะดวกด้านกฎเกณฑ์ และหารือการส่งเสริมสภาพคล่องเงินหยวน เช่น การส่งเสริมบทบาทสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งในต่างประเทศ ในการให้สภาพคล่องเงินสกุลท้องถิ่นของตน รวมทั้งร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการหาแนวทางอำนวยความสะดวกและการลดต้นทุนการทำธุรกรรมเงินสกุลหยวน เป็นต้น

ส่วนเงินสกุลรูเปียของอินโดนีเซีย และเงินริงกิตของมาเลเซียนั้น ธปท.มีแผนงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ในการผ่อนคลายเกณฑ์ Appointed Cross Currency Dealer (ACCD) เพิ่มเติม เช่น การขยายขอบเขตสำหรับเงินลงทุนในหลักทรัพย์และการโอนเงินรายย่อยช่องทางอื่นๆ, การขยายวงเงินบัญชีเงินสกุลท้องถิ่น และวงเงินเพื่อการบริหารสภาพคล่องให้กับ ACCD รวมทั้งการขยายวงเงิน (threshold) การทำธุรกรรมที่ไม่ต้องแสดงเอกสาร เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top