FDA ไฟเขียวนำเข้ายามะเร็งจากจีน หลังสหรัฐประสบปัญหาขาดแคลนหนัก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) อนุญาตให้นำเข้ายารักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติมจากจีน ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนยาทั่วประเทศ โดยภาวะขาดแคลนดังกล่าวทำให้แพทย์ต้องจำกัดการใช้ยา ซึ่งทำให้ชีวิตของผู้ป่วยตกในอยู่ความเสี่ยง

โฆษก FDA เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (10 ก.ค.) ว่า FDA ได้อนุญาตให้จัดจำหน่ายยาซิสพลาติน (Cisplatin) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดที่จำเป็นจากฉีลู่ ฟาร์มาซูติคอล โค (Qilu Pharmaceutical Co.) ของจีน เพิ่มเติมอีก 10 ล็อต

ก่อนหน้านี้ FDA ได้อนุญาตให้จัดจำหน่ายยาเคมีบำบัดของฉีลู่จำนวน 4 ล็อตในสหรัฐ แม้ว่ายาของฉีลู่จะไม่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ก็ตาม

โฆษกของอาโพเท็กซ์ อิงค์ (Apotex Inc) บริษัทเวชภัณฑ์ผู้เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายยาซิสพลาตินของฉีลู่ในสหรัฐ กล่าวว่า ยาชุดใหม่จำนวน 10 ล็อต จะมาถึงสหรัฐในสัปดาห์นี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปัญหาการขาดแคลนยาซิสพลาตินในสหรัฐในปัจจุบันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ โดยเวลานั้นอินทัส ฟาร์มาซูติคอลส์ (Intas Pharmaceuticals) บริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตยาซิสพลาตินจำนวนมากที่ใช้ในสหรัฐ ได้ปิดโรงงานในอินเดีย หลังจากที่ FDA พบว่าคนงานทำลายเอกสาร และไม่นานหลังจากนั้น ยาคาร์โบพลาติน (Carboplatin) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดอีกชนิดที่ใช้ทดแทนยาซิสพาตินเป็นบางครั้ง ก็ขาดตลาดเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การขาดแคลนยาสามัญเช่นยาซิสพลาตินนับเป็นเรื่องปกติในสหรัฐ โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยาเหล่านี้สร้างเม็ดเงินได้ไม่มากพอที่จะจูงใจให้บริษัทยาลงทุนสร้างห่วงโซ่อุปทานยาที่เชื่อถือได้

ข้อมูลจากบริการข้อมูลยาของมหาวิทยาลัยยูทาห์ ซึ่งติดตามกรณีดังกล่าว ระบุว่า การขาดแคลนยาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ FDA ยังได้จัดทำบัญชีรายชื่อยารักษาโรคมะเร็งที่ขาดตลาดอย่างน้อย 9 รายการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top