สภาฯ-สภาฯกทม. ถกญัตติด่วน สะพานลาดกระบังถล่ม

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติด่วนจากเหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในพื้นที่เขตลาดกระบังถล่มในช่วงเย็นวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมสภาฯ ได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเร่งสำรวจการก่อสร้างทุกแห่งที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครให้มีมาตรฐานเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำงานเข้ามาระดมความคิดเห็นเพื่อหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ขอให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย และขอให้หน่วยงานได้เร่งให้ความสำคัญและทำงานอย่างเต็มกำลังก่อนที่จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเสนอแนะ 4 ข้อ ดังนี้

1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเก็บข้อมูลและหลักฐานอย่าง เช่น ตัวอย่างปูนที่พังถล่มลงมาก่อนที่จะมีการทำความสะอาดใหญ่ เพราะจะทำให้ทราบว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากสิ่งใดกันแน่ แต่หากไม่เก็บข้อมูลหลักฐานไว้ก็จะทำให้การพิสูจน์ทราบยากลำบากยิ่งขึ้น

2. ต้องตรวจสอบผู้รับเหมาที่ทำงานนี้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามสัญญาหรือไม่ หากได้ผู้รับเหมาที่ไม่ตรงปก แสดงว่าได้คนที่มีคุณสมบัติที่ไม่เพียงพอมาทำงาน

3. กทม. จะต้องชี้แจงกรณีเปลี่ยนแบบการก่อสร้าง จากสัญญาเดิมที่ให้หล่อในพื้นที่ก่อสร้าง เป็นหล่อจากโรงงาน

4. กทม. ต้องชี้แจงถึงความเข้มงวดในการคุมงาน

ทั้งนี้ หลังจากได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมสภาฯ มีมติส่งเรื่องไปให้รัฐบาลรับทราบ

*สภากทม. ยื่นญัตติด่วน ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ “สะพานถล่ม”

ขณะที่สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาโครงสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเฉพาะการตรวจสอบ ถอดบทเรียนโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่พังถล่ม

“เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์แรกและไม่รู้จะมีเหตุแบบนี้อีกกี่ครั้งที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อถามว่าเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เคยมีกรณีศึกษาหรือไม่เคยถอดบทเรียนหรือไม่ ปัญหาถูกหมักหมม ไม่ได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมาเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ในเมื่อสภากทม. แห่งนี้มาจากการเลือกตั้ง จึงขออนุญาตเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในการศึกษาโครงสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพฯ เพื่อจะศึกษาเชิงลึกวิเคราะห์ แยกแยะ ถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นถึงแม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้กทม.จะนำมาศึกษาเพิ่มเติม โดยการเชิญผู้คุณวุฒิเจาะลึกมาร่วมกันทำงานด้วย” นายสุรจิตต์ กล่าว

ทั้งนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาโครงสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของกทม. มีเพียงนายนภาพล จีระกุล สก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เพราะมีความเสี่ยงเป็นการก้าวก่ายการทำงานของ กทม. ดังนั้น ควรเสนอให้มีการตรวจสอบเป็นโครงการๆ ไป

นายนภาพล คัดค้านญัตติดังกล่าว โดยกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอ เพราะการศึกษาวิสามัญ ต้องมีการตั้งเฉพาะเรื่อง แต่ในกรณีของนายสุรจิตต์ เป็นการศึกษาโครงการขนาดใหญ่ทั้ง กทม. ซึ่งเป็นการก้าวก่ายการทำงานของคณะกรรมการโยธาและผังเมือง ถ้าดูในข้อบังคับการประชุม ผิดมารยาทในการทำงาน เป็นการก้าวก่ายการทำงานของคณะ

“ในกรณีนี้ไม่น่าจะเป็นญัตติในการตั้งกรรมการวิสามัญ กรณีเช่นนี้ ถ้าจะตั้งให้ตรวจสอบเฉพาะสะพานลาดกระบัง เห็นด้วย แล้วมาทำงานร่วมกันได้ แต่ในกรณีตั้งภาพรวมตรวจสอบทั้ง กทม. ไม่เห็นด้วย และเป็นการก้าวก่ายการทำงานของคณะกรรมการคณะโยธาและผังเมือง” นายนภาพล กล่าว

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่นายนภาพล ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการฯ เป็นเพราะนายนภาพล เป็นประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การที่ ส.ก.เขตลาดกระบัง เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญตรวจสอบ เป็นเรื่องที่ดีที่จะมาร่วมกันตรวจสอบ ปัจจุบัน กทม. มีโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย และโครงการก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ จึงได้กำชับให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานร่วมถึงใช้กล้อง AI เข้ามาช่วยตรวจสอบมาตรฐานการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนของโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ที่ทำให้ถนนทรุดตัว มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบ กทม. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ต้องเข้าไปติดตามตรวจสอบโครงการอื่นๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย

ส่วนกรณีที่บริษัทนภาก่อสร้างจำกัด เคยรับงานโครงการก่อสร้างอุโมงค์สี่แยกไฟฉาย และมีการก่อสร้างล่าช้านานกว่า 11 ปี นั้น ต้องทำตามกรอบกฎหมายที่ให้อำนาจ จะไปสั่งแบล็คลิสต์ตามอำเภอใจไม่ได้ การขึ้นแบล็คลิสต์เป็นอำนาจของกรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ดี กทม. จะเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยจะมีการตรวจสอบประวัติการทำงาน และผลงานย้อนหลังด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top