ส.ส.ภูมิใจไทย-ส.ว.เปิดฉากอภิปรายยกประเด็น 112 ไม่เห็นด้วย “พิธา” เป็นนายกฯ

หลังจากเปิดประชุมร่วมรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และได้รับเสียงรับรอง 302 เสียง ขณะที่ไม่มีผู้เสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นมาแข่งชิงตำแหน่ง

จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้ ส.ส.-ส.ว.ได้อภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เป็นคนแรกที่อภิปรายคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจุดยืนของพรรค คือไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคการเมือง 7 พรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นเหตุให้การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันของ 8 พรรค ไม่มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 แม้ว่าพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคจะลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลที่จะผลักดันต้องไม่กระทบรูปแบบการปกครองของรัฐ แต่ทางกลับกันนายพิธา กลับเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่า จะแก้ไขมาตรา 112 โดยให้ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎมายเอง

ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ พรรคภูมิใจไทยพร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ และคัดคานการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเต็มที่ พรรคไม่มีเจตนาจัดตั้งหรือสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อยแข่ง เพราะเราเคารพมติประชาชน และยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“ผมอยากเห็นรัฐบาลชุดนี้แต่งตั้งไวๆ จะดูว่าทำงานได้หรือไม่ เราต้องให้โอกาสทุกคน แต่ท่านอย่าไปจุดชนวนให้บ้านเมืองนี้ ผมขอเรื่องมาตรา 112 เพราะถ้าท่านทำจะวุ่นวาย ซึ่งจะเป็นภารกิจของผมและพรรคที่ต้องให้ระบอบประชาธิปไตยอันทีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่คู่สังคมไทยไปตลอด”

นายชาดา กล่าว

จากนั้นนายประพันธ์ คูณมี ส.ว. ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการเสนอชื่อบุคคลที่ขาดคุณสมบัติขัดต่อกฎหมาย และมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในสื่อ บมจ.ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ที่อาจมีคนแย้งว่าขณะนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดจะถือว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติไม่ได้นั้น ตนเห็นว่าปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนจะสมัครส.ส. ต้องตรวจสอบตัวเองแล้วว่ามีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีนี้เป็นปัญหาสำคัญที่สภาต้องพิจารณาให้ละเอียดถ่องแท้ว่าการเสนอบุคคลดังกล่าวชอบหรือไม่

นายประพันธุ์ กล่าวว่า หากสภายังดึงดันจะลงมติบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่อาจถูกดำเนินคดีได้ตามมาตรา 231 (1) เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวตนไม่เห็นด้วยและคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่นายพิธา ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันกับสมาชิกทั้ง 750 คน ว่า ยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์ทุกประการและมีความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนเรื่องข้อกล่าวจาก กกต. และยังไม่มีโอกาสชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว และการยื่นคุณสมบัติของตนเองผ่านองค์กรอิสระต่างๆ ดำเนินการด้วยความรัดกุมมาตลอดทุกครั้งตั้งแต่เป็น ส.ส.สมัยแรก เพราะยอมรับการตรวจสอบ และดีกว่าบางคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นกกต.หรือปปช.ก็ตาม

นายพิธา กล่าวต่อว่า คุณสมบัตินายกรัฐมนตรีที่ดีต้องมีความอดทนอดกลั้น รับฟังข้อกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top