IAA ชี้ช่องจับโกงบจ.แต่งบัญชี สร้างสตอรี่เก่งแต่ไม่มี IR -ไม่ออก Opp day

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผย ในการสัมมนา หัวข้อ “เคล็ดลับจับกลโกงบัญชี และแนวทางคัดกรองหุ้น” ว่า บทบาทของนักวิเคราะห์ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการล้วงลึกข้อมูล เช่น เมื่องบประกาศออกมา นักวิเคราะห์จะมองภาพรวมของกิจการก่อน และมองไปในอดีตว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือผิดสังเกตุอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นก็จะเข้าดูในหมายเหตุ และพูดคุยกับบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) แต่ก็มีบางครั้งที่ไม่สามารถพูดคุยกับบริษัทได้

ทั้งนี้เมื่อเกิดกรณีบริษัทตกแต่งบัญชี มีการทำเอกสารปลอม ด้วยขอบเขตของนักวิเคราะห์ก็จะเข้าไม่ถึง ซึ่งทำได้เพียงแค่ตั้งข้อสังเกตุ นอกจากนั้นยังมีจุดอ่อนอีก คือ จำนวนของนักวิเคราะห์ที่น้อยกว่าบริษัทจดทะเบียนไทย และหุ้นที่จะถูกนักวิเคราะห์ cover คาดคิดเป็น 1 ใน 4 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะมีหุ้นอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูก cover, งบไม่ได้ถูกตรวจสอบ จากมุมของนักวิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตุได้ว่า หุ้นที่ถูกนักวิเคราะห์ cover ส่วนใหญ่จะไม่พบปัญหา หรือมีการตกแต่งบัญชี เนื่องจากจะมีการจัดประชุมนักวิเคราะห์ (analyst meeting), บริษัทจดทะเบียนมีการพบปะนักลงทุน ผ่านกิจกรรม Opp Day รวมถึงการทำ Earning Preview ซึ่งหลังและก่อนประกาศงบจะไม่มีปัญหา แต่สังเกตุดูได้ว่าบริษัทที่เป็นปัญหาจะไม่มีนักวิเคราะห์เข้าไป cover

ส่วนการดูงบการเงิน นักวิเคราะห์จะให้ความสำคัญกับสินทรัพย์หมุนเวียน เช่น ลูกหนี้การค้า นอกจากดูเพิ่มขึ้น ลดลงแล้ว จะดูไปถึงคุณภาพลูกหนี้ด้วย เนื่องจากหลายครั้งที่เจอปัญหา จะเกิดจากคุณภาพของลูกหนี้ไม่ดี โดยเฉพาะในบริษัทที่มีมาร์จิ้นต่ำๆ และยังมีคุณภาพลูกหนี้มีปัญหา โดยแนะให้เน้นดูตรงคุณภาพลูกหนี้

ด้านสินค้าคงเหลือ จะมองในแง่เป็นสินค้าที่แปลงเป็นเงินสดได้ช้าหรือเร็ว โดยเฉพาะในบริษัทที่มีสินค้าคงคลังค่อนข้างมาก อย่าง อสังหาริมทรัพย์ โดยจะต้องดูว่าเป็นสินค้าคงเหลือประเภทไหน แปลงเป็นเงินสดได้ช้าหรือเร็ว อีกทั้งควรจะดูงบกระแสเงินสดด้วย ถ้าบริษัทไหน Report ตัวเลข Net Profit ใกล้กับกระแสเงินสดจาการดำเนินงาน จะถือว่า Smooth ที่สุด

พร้อมกันนี้แนะวิธี Check List หุ้น ก่อนลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง

1. รู้จักบริษัทนั้นให้ดี โดยสามารถอ่านข้อมูลย้อนหลัง เพื่อให้รู้ว่ามีสถานะการเงินอย่างไร มีการทำธุรกิจอะไร และที่สำคัญมีการตัดสินใจผ่านปัญหามาได้อย่างไร

2. ดูความสอดคล้องระหว่างสตอรี่ที่ถูกสร้าง กับร่องรอยที่ปรากฎในงบการเงิน

3. พบรายการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม เช่น ขาดทุนอยู่แต่พลิกกลับมามีกำไรมหาศาล

4. เห็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการบัญชี หรือผู้สอบบัญชี หรือ CFO บ่อยๆ และดูจุดที่เปลี่ยนแปลงว่าหากไม่เปลี่ยนจะเกิดอะไรขึ้น

5. มีบริษัทย่อยมาก เข้าถึงได้ยาก ก็อาจจะเกิดปรากฎการณ์หลอกตาได้เช่นกัน

6. รายการนอกงบดุล (Off-balance sheet)

7. บริษัทไม่มีนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) และยังไม่มีกิจการ Opp Day

นายณัฐชานนท์ โกมุทพุฒิพงศ์ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าก่อนเสนอขายหุ้น IPO การตรวจสอบจะเข้มข้น แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ผู้เล่นจะเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ผู้สอบบัญชีก็ต้องเข้ามาสอบทานงบ ตรวจสอบงบ และบริษัทก็ต้องมีผู้ตรวจสอบภายในด้วย ซึ่งในเรื่องของการดูตัวเลขก็จะผ่านหลายกระบวนการ ตลอดจนการรายงานความเห็นของผู้สอบบัญชีว่าไม่มีเงื่อนไขหรือไม่ โดยมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีจะเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด

ทั้งนี้วิธีที่จะดูว่าบริษัทมีการตกแต่งบัญชีหรือไม่ อยากให้สังเหตุดูว่า มีการจัดการกำไรอย่างที่บริษัทอยากได้หรือไม่ เช่น ต้องการให้ไตรมาสนี้เท่ากับไตรมาสที่แล้วจะทำอย่างไร

ตัวอย่างการจัดการกำไร

1. การเร่งบันทึกรายได้ เพื่อให้มีรายได้เข้ามามากๆ จะกระทบกับสินทรัพย์ และหนี้สิน

2. การบันทึกค่าใช้จ่าย จะกระทบกับสินทรัพย์ และหนี้สิน

3. การใช้ดุลยพินิจในการประมาณการตัวเลขทางบัญชี เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ขาดทุน จากการด้อยค่าของลูกหนี้การค้า ขาดทุนจากสินค้าล้าสมัย

4. การเปลี่ยนนโยบายบัญชี/ผู้สอบบัญชี

5. การสร้างรายการที่เกิดขึ้นไม่บ่อย และเป็นรายการที่ไม่มาจากการดำเนินงาน

6. การเร่งทำรายการหรือชะลอการทำรายการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการวิจัย ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด

7. การสร้างรายการระหว่างกันกับบริษัทในเครือ

“หลักๆ เลยสิ่งที่จะมีการตกแต่งกันง่าย คือ สินทรัพย์หมุนเวียน หนี้สินหมุนเวียน ซึ่งเมื่อหมุนง่าย ลูกหนี้ก็หมุนง่าย เจ้าหนี้ก็หมุนง่าย สินค้าก็หมุนง่าย ถ้าเจอแบบนี้ให้ตั้งข้อสังเกตุได้ว่า เวลาดูงบ ปกติของซีซั่นนี้ของมันไม่น่าจะขายได้ แต่ทำไมมีอะไรลอยๆ มา หรืออุตสาหกรรมโตเท่านี้ แต่ทำไมโตกว่าละ ก็ต้องมาดูว่าบริษัทนี้วิ่งอยู่บนน่านน้ำไหน เช่น อสังหาริมทรัพย์ มันมีอะไรที่สำคัญในนั้นบ้าง” นายณัฐชานนท์ กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร กรรมการชมรมวาณิชธนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Back-door Listing) หลังจากเกิดเหตุการณ์กรณีบมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) อาจทำให้ดีลต่างๆ มีต้นทุนที่สูงขึ้น และฝ่ายกำกับดูแลมีความเข้มงวดมากขึ้น ส่วนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางตรง หรือการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีความเข้มงวดอยู่แล้ว

ขณะที่กระบวนการ กลไก ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ต้องดูแลรับผิดชอบกับผู้เสนอขายหุ้นฯ อย่างน้อย 2-3 ปี ในการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต่างกับ Back-door Listing ซึ่ง FA จะมีกระบวนการใช้เวลาศึกษาดีลดิลิเจนท์ ให้ความคิดเห็นกับผู้ถือหุ้น ในการตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ เข้าลงทุนในสินทรัพย์ ไม่เกิน 2-3 เดือน

ทั้งนี้มองบริษัทที่มีความเสี่ยงที่จะมีกลโกง คือ บริษัทที่ไม่มีนักลงทุนสัมพันธ์ (IR), ไม่มา Opp Day และไม่เคยพบปะนักลงทุน ซึ่งจะให้ข้อมูล หรือให้ข่าวเฉพาะจะออกมาสื่อสารเท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นปัญหาที่จะทำให้เกิดธุรกรรมกลโกล เช่น กรณี STARK คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งหากเมื่อไหร่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) จะเป็นสิ่งที่ดี แต่หากมีช่องทำให้ไม่ทราบว่าระหว่างฝั่งผู้ขาย หรือผู้ซื้อ มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ คือ จุดที่มีปัญหาอยู่ในบริษัทจดทะเบียน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top