คลังชงแผนปฏิรูปภาษีเสนอรัฐบาลใหม่ ลั่นไม่ล้มภาษีขายหุ้น

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาแผนปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐบาล ทั้งในส่วนของการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย เพื่อให้เป็นไปตามกรอบวินัยการคลัง และดำเนินการตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปี 2567-2570) ที่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 ต้องลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ ไม่ให้เกิน 3% ต่อจีดีพี ขณะที่ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 14% ของจีดีพี ควรขยับขึ้นไปเป็นระดับ 16-17% ต่อจีดีพี

“แผนการปฏิรูประบบภาษีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ผ่านเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้วกว่า 20 รายการ แต่วันนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเราจะทำอะไร ซึ่งทุกรัฐบาลที่เข้ามาไม่ว่าจากพรรคใด แผนปฏิรูปภาษีจะเป็นแผนแรก ที่กระทรวงการคลังต้องกางให้ดู ว่าแผนจัดเก็บรายได้ แผนรายจ่ายควรจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เอาไปให้ดูหมด ว่าคนที่ทำนโยบายจะดำเนินการอย่างไร” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า เบื้องต้นในแผนการปฏิรูปภาษี จะมีการแบ่งช่วงเวลา บางมาตรการจะดำเนินการใน 2 ปี หรือภายใน 5 ปี เป็นต้น เช่น ที่ผ่านมามีการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน เพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนมานานหลายปีแล้ว มองว่าเป็นการช่วยคนรวยมากเกินไปหรือไม่ อาจจะต้องมาทบทวนวิธีนำค่าลดหย่อนหลาย ๆ รายการ ต้องมีการกำหนดเพดาน (แคป) วงเงินลดหย่อนสูงสุด ให้ผู้เสียภาษีเลือกรายการที่ต้องการหักลดหย่อนเอง เป็นต้น

 

คลังไม่พับแผนเก็บภาษีขายหุ้น พร้อมชงรัฐบาลใหม่

ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าภาษีจากการซื้อขายหุ้น ยังอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพียงแต่รัฐบาลรักษาการอาจมีข้อจำกัดไม่สามารถดำเนินการได้ต่อ หรือหากจะปรับเป็นการเก็บภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain Tax) ก็สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (ESG) สินค้าประเภทใดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำลายสุขภาพ อาจจะต้องจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น เป็นต้น

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท ตามนโยบายของพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่า การปฏิรูปภาษีจะมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้รัฐขึ้นอีกอย่างน้อยเกินครึ่ง

“หากรัฐบาลใหม่ต้องการปรับเป็น Capital Gain Tax เราก็พร้อมเปลี่ยน เพราะเราศึกษาควบคู่มาโดยตลอด แต่อาจต้องใช้เวลาเพิ่ม เพราะต้องทำระบบใหม่ แต่เราเชื่อว่ารูปแบบภาษีขายหุ้น ยังเหมาะกับตลาดทุนไทยมากกว่า ส่วนภาษีตัวอื่นๆ ต้องทำเป็น Step เพราะไม่ต้องการให้เศรษฐกิจช็อคจากการปฏิรูปภาษี” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับมาตรการลดรายจ่าย เช่น เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ ที่ปัจจุบันรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อส่วนนี้ปีละ 50,000 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 67 รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้จ่ายค่าเบี้ยยังชีพคนชราเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท ซึ่งต้องไปพิจารณาว่าในรัฐธรรมนูญกำหนดให้การจัดสรรเบี้ยยังชีพคนชราเป็นสิทธิของทุกคนที่ควรได้รับ หรือควรเป็นสิทธิที่ได้รับเฉพาะผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ และไม่มีความสามารถในการหารายได้ เนื่องจากมองว่าผู้สูงอายุที่มีฐานะดี อาจไม่จำเป็นต้องได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-800 บาท ซึ่งรัฐบาลควรลดรายจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้ส่วนอื่นจะดีกว่าหรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top