“บิ๊กตู่” ห่วงม็อบหน้าสภาฯ พรุ่งนี้ กำชับจนท.ดูแลความเรียบร้อย

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสถานการณ์การเมือง จากการที่พรุ่งนี้ (19 ก.ค.) มีการนัดชุมนุมของมวลชนหลายกลุ่มที่บริเวณใกล้เคียงรัฐสภา ซึ่งจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 โดยเป็นทั้งกลุ่มที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเป็นห่วงและได้ฝากให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนทุกฝ่ายให้เรียบร้อย ไม่อยากให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งทำผิดกฎหมาย ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการให้เกิดความเรียบร้อย

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้พูดถึงกระแสข่าวที่จะมีการเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยในการโหวตครั้งที่ 2 และไม่ได้พูดเรื่องการเมืองกับพล.อ.ประวิตร แต่พูดในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการในความเป็นห่วงการชุมนุมมากกว่า เพราะมีข่าวว่ามีมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายไปชุมนุม ซึ่งนายกฯ ไม่อยากให้ประเทศไปสู่การขัดแย้ง เพราะวันนี้สิ่งที่ทำมา 8-9 ปี ประเทศควรสงบ และเดินไปข้างหน้า จึงอยากให้การเมืองสงบด้วย

ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่อาจยืดเยื้อไปถึงครั้งที่ 3 นั้น นายกฯ แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้หรือไม่ นายธนกร ย้ำว่า นายกฯ ห่วงเรื่องอื่นมากกว่า เรื่องการเมืองก็ให้เป็นไปตามกลไกสภา หากพรรคอันดับ 1 ไม่ได้ก็ให้เป็นของพรรคอันดับ 2 อันดับ 3 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้นเอง ส่วนตัวมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลต้องใช้เวลา เพราะถึงอย่างไรก็ต้องมีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรี

 

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในสังคมปัจจุบัน ที่พบว่ามีการใช้ถ้อยคำอันรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกันมากขึ้น มีการแสดงออกผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่มีการใช้ถอยคำที่รุนแรง เกิดผู้เสียหาย เกิดความเดือดร้อนในวงกว้าง นำไปสู่เรื่องร้องเรียน

“ท่านนายกฯ ได้ปรารภในที่ประชุมครม. ว่าอยากให้สังคมใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วยความระมัดระวัง ทุกคนคือคนไทย ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแสดงออกด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหรือเกลียดชัง ที่สำคัญคือไม่อยากให้มีการโพสต์หรือให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เพราะผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการบูลลี่หรือจากการโพสต์นั้น อาจจะดำเนินการทางกฏหมาย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใดเลย” น.ส.รัชดากล่าว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการย้ำเตือนประชาชน อย่าให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการบูลลี่ โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความเห็นต่าง ควรอยู่ด้วยกันอย่างมีเหตุผล รวมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการกระทบเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย หน่วยงานฯต้องเข้าไปดูแลทุกฝ่าย ไม่ดูแลเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดเราควรจะร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการบูลลี่ในสังคมไทย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top