ส.อ.ท. แนะรัฐเร่งวางมาตรการเตรียมพร้อมรับมือ “เอลนีโญ”

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จะขยายวงรอบนานขึ้นจาก 3 ปี เป็น 4-5 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการเตรียมพร้อมรับผลกระทบก่อนเกิดวิกฤต โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ เตรียมระบบสูบผันน้ำในโครงข่ายท่อส่งน้ำภาคตะวันออกให้พร้อมใช้งาน, เร่งผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาเติมในอ่างเก็บน้ำหลักใน จ.ระยอง

“ปัจจุบัน ในพื้นที่อีอีซีมีความต้องการใช้น้ำจำนวน 700 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ซึ่งขณะนี้ มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอ และในอีก 5 ปี จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเป็น 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีมาตรการรองรับ สถานการณ์ปีหน้าอาจเกิดวิกฤต เพราะปริมาณฝนลดลงจากปกติ 25% ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ลดลงจากปีก่อน 2,732 ลูกบาศก์เมตร” นายสมชาย กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในปี 66 ได้แก่ ก.ค.66 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี, ส.ค.-ก.ย.66 พื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี, ต.ค.66 พื้นที่ภาคอีสานตอนล่างบางส่วน, พ.ย.66 พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และ ธ.ค.66 พื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน

โดยแผนรับมือภัยแล้ง แบ่งเป็น มาตรการระยะเร่งด่วน ต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนสถานการณ์ปัญหาไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบ เพื่อให้เตรียมแผนรับมือล่วงหน้า, ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และรวบรวมข้อเสนอของภาคเอกชน และจัดทำข้อเสนอไปยังภาครัฐให้เตรียมแผนรับมือภัยแล้ง

ส่วนมาตรการระยะยาว จะส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำตามหลัก 3R และพัฒนาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้หน้าแล้ง จัดหาและศึกษาความเหมาะสมในการหาแหล่งน้ำใหม่ หรือแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้ง เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล หรือการนำน้ำ recycle จากน้ำเสียในชุมชนมาใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรม

ขณะที่มีข้อเสนอต่อรัฐในระยะเร่งด่วน ได้แก่ ควบคุมการปล่อยน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งลดการสูญเสียน้ำในอ่างฯ, เร่งผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าเก็บไว้ในอ่างฯ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำตามโครงข่ายท่อส่งน้ำ ส่วนระยะยาวให้เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออก และทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองทุกพื้นที่

ประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า สำหรับแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค และทำการเกษตรในชุมชนนั้น หากมีการบริหารจัดการและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีอยู่ราว 2 แสนแห่งให้มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับชุมชนได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top