ธปท. เผยศก.ไทย มิ.ย. อยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว-ส่งออกสินค้า

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทรงตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลงหลังจากเร่งไปแล้วในเดือนก่อน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่มูลค่าการส่งออกปรับดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในเดือนมิ.ย.66 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 2.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซีย และจีน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของทั้ง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวบางสัญชาติ อาทิ ยุโรป และตะวันออกกลางปรับลดลงบ้าง หลังจากเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า

ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว -5.9% และหากไม่รวมทองคำ จะหดตัว -4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (พ.ค.66) มูลค่าการส่งออกในเดือนมิ.ย. จะเพิ่มขึ้น 2.5% โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตามการส่งออกทุเรียนไปจีน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตามรอบการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรแปรรูปลดลงตามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปอินเดีย และการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าจากที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาผลิตตามปกติ หลังปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในเดือนก่อน รวมทั้งการผลิตเหล็กปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการนำเข้าจากจีนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าบางหมวดปรับลดลง จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง อาทิ น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ยางเป็นสำคัญ

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมิ.ย. หากไม่รวมทองคำจะลดลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้า 1) สินค้าทุน หลังมีการเร่งนำเข้าเครื่องบินและคอมพิวเตอร์ในเดือนก่อน 2) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง จากการนำเข้าเหล็กที่ลดลง และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยา อย่างไรก็ดี การนำเข้าเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ

สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด หลังปัจจัยชั่วคราวหมดลง ประกอบกับการเร่งส่งมอบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัว ด้านปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อน จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่เร่งไปมากในเดือนก่อน และการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่ลดลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ฯ เพื่ออุตสาหกรรมและโรงงานเป็นสำคัญ

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่เร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผลของฐานสูงที่มีการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในปีก่อน และจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม และชลประทานที่ได้เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านพลังงาน และคมนาคม

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 0.23% ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ ตามราคาเนื้อสุกรและผักสด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.32% ลดลงจากผลของฐานสูงในราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ

ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลง ตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายทรัพย์สินทางปัญญาที่ลดลงจากเดือนก่อน

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิ.ย. เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความไม่นอนทางการเมืองในประเทศ จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่าประเทศคูค้า แต่อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ค.เงินบาทได้กลับมากแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการปรับลดการคาดการณ์ของตลาดในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว

 

เศรษฐกิจไทย Q2/66 ดีขึ้นเล็กน้อย จากการท่องเที่ยว-บริโภคภาคเอกชน

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย. 66) เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคบริการและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากการผลิตยานยนต์และหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับเงินเฟ้อในหมวดพลังงานลดลง ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล จากการส่งกลับกำไรและรายรับด้านการท่องเที่ยวที่ลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลลดลง

 

ท่องเที่ยวแรงขับเคลื่อนหลักศก.ไทย แต่ต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง

น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค.66 และระยะต่อไปว่า คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนก.ค.ยังทยอยปรับดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคบริการ อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปต้องติดตามปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง 2.การจัดตั้งและนโยบายของรัฐบาลใหม่ และ 3.ผลของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงต่อกลุ่มเปราะบาง

โดยเมื่อมองไปข้างหน้า การท่องเที่ยวยังน่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่การส่งออกสินค้ายังทรงตัว ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในเดือนก.ค.นี้ ยังหดตัวต่อเนื่อง และจะเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปีตามวัฎจักรของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่จะเริ่มดีขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top