IMF ชี้เงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อตลาดการเงิน แบงก์ชาติตรึงดบ.สูงนานกว่าคาด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุผ่านเว็บไซต์ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงไว้นานกว่าที่คาดการณ์กันในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากการที่นักลงทุนคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ และคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์ แลนดิ้ง (soft landing) ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน และถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ

รายงานที่เขียนโดยนายโทเบียส เอเดรียน นายฟาบิโอ นาตาลุกซี และนายเจสัน วู ระบุว่า เงินเฟ้อโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาในสหรัฐและยูโรโซน เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารลดลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงาน ลดลงช้ากว่า และเงินเฟ้อในภาคบริการแทบไม่ลดลง

ข้อมูลจากการคาดการณ์ของตลาดระบุว่า กลุ่มนักลงทุนคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงค่อนข้างเร็วแบบต่อเนื่องตลอดช่วงหลายไตรมาสข้างหน้า อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนยังคงเห็นความเสี่ยงขาขึ้นของทิศทางเงินเฟ้อ ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงภาวะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไม่นานมานี้

ทั้งนี้ การคาดการณ์จากตราสารสิทธิเงินเฟ้อ (inflation option) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยปกป้องผู้ถือจากการที่เงินเฟ้อสูงขึ้นหรือลดลงจากระดับปัจจุบันนั้นแสดงให้เห็นว่า มีโอกาสสูงที่เงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในยุโรป โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ระดับ 2% หรือยังคงอยู่ที่ประมาณ 4% ส่วนในสหรัฐนั้น นักลงทุนคาดการณ์ค่อนข้างสูงว่า เงินเฟ้อจะยังคงอยู่เหนือเป้าหมายที่ประมาณ 3%

ขณะเดียวกัน ภาวะการเงินผ่อนคลายลงอย่างชัดเจนในสหรัฐและยูโรโซนในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มนักลงทุนค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการประเมินที่ช่วยส่งเสริมมูลค่าตลาด

ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายดังกล่าวสร้างความท้าทายให้กับบรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ ในการฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% โดยในอดีต นโยบายการเงินแบบเข้มงวดนั้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงก่อนแล้วจึงกระทบต่อเงินเฟ้อผ่านทางภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น แม้ภาวะการเงินในปัจจุบันตึงตัวกว่าระดับที่ผ่อนคลายอย่างมากเมื่อช่วงกลางปี 2564 แต่ภาวะผ่อนคลายเมื่อไม่นานมานี้อาจสร้างความซับซ้อนให้กับการต่อสู้กับเงินเฟ้อ เนื่องจากจะสกัดกั้นการชะลอตัวของอุปสงค์โดยรวม ซึ่งจำเป็นต่อการลดแรงกดดันเงินเฟ้อ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top