รฟท.ให้ กฟภ.ลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop พื้นที่รถไฟ นำร่องสถานีกลางบางซื่อ

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม รักษาราชการแทน รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการพลังงานในองค์กร ด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. และนายสมปอง ดำรงอ่องตระกูล รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด กฟภ. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

รมช.คมนาคม กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยหันไปใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) กระทรวงคมนาคม จึงมีโครงการ”คมนาคมสีเขียว” โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานสำรวจพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานจำนวนมาก ทั้งสถานีรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือระหว่าง รฟท.กับ กฟภ.ถือเป็นการคิกออฟ ของกระทรวงคมนาคม โดยในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ จะมีหน่วยงาน ทยอยลงนาม MOU กับกฟภ. เพื่อร่วมมือพัฒนาพลังงานทางเลือกอีก โดยความร่วมมือนี้ กฟภ. จะเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า รถไฟเป็นขนส่งสาธารณะที่ให้บริการประชาชน มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก การใช้พลังงานทางเลือก นอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้วยังลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม รฟท.จึงหารือกับ กฟภ. และได้เสนอโมเดลการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในพื้นที่รถไฟ

โดยในระยะเริ่มต้น จะใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และพื้นที่ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเป็นสถานีต้นแบบ เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดยมีการสำรวจ ออกแบบ กำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน คุณสมบัติอุปกรณ์ การจัดหาอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เช่น ระบบติดตามผลการผลิตไฟฟ้า (Monitoring System) การอ่านค่าหน่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop แบบ Realtime ซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดเป้าหมายการใช้ปริมาณไฟฟ้าได้ ทำให้องค์กรลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ

โดยโครงการเริ่มต้น พบว่า บริเวณหลังคาโรงซ่อมบางซื่อ ตรงข้ามอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีความเหมาะสม ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีภาระค่าไฟฟ้าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อเดือน โดยช่วงเปิดสถานีฯ เป็นศูนย์วัคซีนโควิด-19 นั้น มีค่าไฟฟ้าสูงถึง 20 ล้านบาทต่อเดือน เพราะมีการใช้พื้นที่ทั้งหมด ดังนั้น เชื่อว่าเมื่อมีการติดตั้ง Solar Rooftop จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงอย่างน้อย 15% โดย รฟท.ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

“ก่อนหน้านี้ ได้นำรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ระบบ EV on Train มาทดลองเปิดใช้ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ รฟท. ในการนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้พัฒนาการบริหารจัดการพลังงานในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดงบประมาณการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิจัยพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถขยายผลไปใช้ยังสถานีรถไฟอื่นๆ ทั่วประเทศได้ในอนาคต” ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าว

ด้านนายสมปอง ดำรงอ่องตระกูล รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ. จะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) บริเวณหลังคาของโรงซ่อมบำรุงบางซื่อ ตรงข้ามกับสถานีกลางฯ เบื้องต้นมีกำลังการผลิตขนาด 3 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยรฟท. ลดค่าไฟฟ้าลงประมาณ 15% ระยะเวลาร่วมมือ 30 ปี และจะขยายไปยังสถานีรถไฟต่อไปในอนาคต

“หลังลงนามความร่วมมือ จะสำรวจพื้นที่และศึกษารายละเอียดร่วมกันว่าจะติดตั้งได้ตรงไหน มีพื้นที่เท่าไร มีกำลังการผลิตเท่าไร กรณีการติดตั้งที่หลังคาโรงซ่อมบางซื่อ คาดว่าจะติดตั้งเสร็จใน 1 ปี และเริ่มผลิตไฟฟ้าได้” นายสมปอง ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top