“พิธา” เข้าสภาให้กำลังใจลูกพรรค ยังไม่ตัดสินใจโหวตหนุนนายกฯ เพื่อไทย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางเข้ามาที่รัฐสภา หลังจากหายไปเกือบ 3 สัปดาห์ นับจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ชั่วคราว โดยกล่าวถึงกรณีการหารือกันระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคก้าวไกล เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.) ว่า เป็นการสื่อสารและรับฟังกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งยังไม่มีความคืบหน้าไปมากกว่านั้น หากทั้งสองฝั่งมีคำถามก็จะนัดเจอกันเรื่อยๆ

กรณีที่เพื่อไทยอยากตั้งรัฐบาลแบบสลายขั้ว และอยากให้ก้าวไกลช่วยโหวตให้แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย เพื่อปิดสวิตช์ สว.นั้น นายพิธา กล่าวว่า ขอรอฟังในสิ่งที่เพื่อไทยเสนอ ถ้าฟังแล้วยังมีคำถาม ก็จะถามกลับไปยัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยต่อไป ว่าหมายความอย่างไร

“ต้องรอรับฟังกันก่อน รอดูว่ามีคำถามใดเพิ่มหรือไม่ ก็ค่อยสอบถามกัน ถ้าเป็นสาระสำคัญจริงๆ ก็ต้องรับฟังกัน และคิดให้รอบคอบ” นายพิธา กล่าว

พร้อมเห็นว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์ที่ฟังมากกว่า ลองดูสถานการณ์ว่าจะทำอะไรให้คลี่คลายได้บ้าง ต้องรับฟังความคิดเห็น เพราะมีปัจจัยต้องคิดให้รอบคอบ ยึดหลักการเป็นสำคัญ และยึดในคำสัญญาที่หาเสียงไว้ ซึ่งจะอธิบายได้ว่ามีหลักประกอบการพิจารณาอย่างไร รวมทั้งรับฟังเสียงประชาชนด้วย

สำหรับความเห็นของผู้สนับสนุนนั้น ไม่ใช่ฟังเฉพาะในโซเชียล แต่ต้องดูจากการลงพื้นที่ด้วย ซึ่งตนได้ย้ำไปแล้วว่าอย่าฟังเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง และเชื่อว่าด้วยความเป็นผู้แทนราษฎร คนที่มีอำนาจจริงๆ คือ ราษฎร จึงต้องให้ สส.ลงไปถามคนในพื้นที่ด้วยว่ามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร อาจเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบที่มีน้ำหนักในการตัดสินใจ และถือเป็นเอกสิทธิ์ สส. แต่ละคนที่จะสอบถามประชาชน คงไม่ใช่เป็นการฟ้องประชาชน

“ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในกระบวนการตัดสินใจ แต่อยู่ในกระบวนการรับฟังให้รอบคอบ และเอามาวินิจฉัย และพิจารณา ซึ่งพรรคยังไม่มีกำหนดการจะหารือ และยังไม่ถึงเวลาคิดว่าจะให้ฟรีโหวต ซึ่งคิดว่า ก่อนตัดสินใจยังมีเวลา ไม่ได้รีบถึงขนาดนั้น” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ

พร้อมระบุว่า หากก้าวไกลไม่โหวตให้ อาจจะมีผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากโหวตให้ จะถูกมองว่าก้าวไกลถอยถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องรับฟังและพิจารณา เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ละคนมีการโหวตอะไรไว้ก็เห็นกันอยู่

นายพิธา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าคดีถือหุ้น ITV ว่า ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ติดต่อมา ทำให้ยังไม่มีโอกาสได้ชี้แจงหรือทำเป็นหนังสือ ซึ่งรอชี้แจงอยู่ ส่วนคดีแก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นการล้มล้างการปกครอง และศาลรับเรื่องไว้แล้วนั้น ได้ขอขยายเวลาในการชี้แจงไป โดยให้ฝ่ายกฎหมายของพรรครับผิดชอบ และได้ให้นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้

ส่วนจะมีความกังวลว่าจะถูกยุบพรรคหรือไม่ นายพิธา กล่วว่า ขอรอให้มีการไปชี้แจงและแสดงหลักฐานจริงๆ ตอนนี้ไม่ขอพูดอะไร ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการศึกษาอย่างชัดเจน และขณะนี้ได้เห็นคำอ้างจากฝ่ายที่กล่าวหาว่ามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตนคิดว่าสามารถที่จะคัดค้านได้ทุกเรื่อง

ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นในเชิงกฎหมายว่าพรรคก้าวไกล ต้องเลือกระหว่างตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กับตำแหน่งรองประธานสภาฯ นั้น พรรคมีทางออกที่เหมาะสมแล้ว หากถึงวันจะต้องเลือก พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า “พรรคก้าวไกลอาจจะไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านก็ได้ ใครจะรู้” พร้อมกับหัวเราะ และกล่าวขอบคุณ

ทั้งนี้ นายพิธาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป หากรัฐสภาไม่เห็นชอบแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย เพราะไม่ต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของพรรคเพื่อไทย โดยอยากให้พรรคเพื่อไทยได้ทำงานอย่างเต็มที่ หากวันโหวตผลออกมาเป็นอย่างไร ก็พร้อมที่จะให้ความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากพูดอะไรออกไปก่อนก็ต้องระมัดระวัง

หากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สามารถเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำรอบสองได้ นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอดูคำสั่งศาลก่อน แต่ในข้อเท็จจริงตามข้อบังคับที่ 41 หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงก็สามารถที่จะเสนอชื่อตนเองได้ เช่น หากมีการเสนอชื่อประกบคู่แข่งขันกันระหว่างตนเองกับคนอื่น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรอคำสั่งศาล สามารถเสนอชื่อแข่งกันได้เลย และเชื่อว่า โอกาสที่จะเสนอชื่อยังมีอยู่ ซึ่งต้องดูเวลาที่เหมาะสม และในตอนนี้จึงทำหน้าที่ได้เพียงเป็นกำลังใจให้กับ สส.ของพรรคที่ทำงานอยู่ พร้อมกับเตรียมลงพื้นที่หาเสียงการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดระยอง

“เมื่อตีความตามตัวอักษร หากมีคู่แข่ง ก็สามารถที่จะเสนอชื่อตนเองได้ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แต่ขณะนี้มารยาททางการเมือง พรรคได้ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยไปแล้ว ให้ทำหน้าที่เต็มที่ แต่เป็นคนละเรื่องที่จะโหวตหรือไม่โหวตให้แคนดิเดทนายกฯ พรรคเพื่อไทย โดยเมื่อวานเป็นเพียงรับฟังความเห็นจากแกนนำพรรคเพื่อไทยเท่านั้น” นายพิธา กล่าว

สำหรับการเลือกตั้งซ่อมเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดระยองนั้นจะส่ง นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ซึ่งเคยทำงานมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ และมีความคุ้นเคยกับพื้นที่เป็นอย่างดี เชื่อมั่นว่า เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของพรรคก้าวไกล

นายพิธา กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ได้เข้ามายังรัฐสภา นับจากวันที่ศาลสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่วันที่ 19 ก.ค.66 เพราะต้องการมากินของโปรด และอาหารที่ชอบ ก่อนได้เดินไปซื้อน้ำมะพร้าวกับไอติมกะทิมหาชัย โดยปกติท็อปปิ้งจะใส่ข้าวเหนียวแต่ว่าหมด จึงใส่ลอดช่องแทน โดยออกตัวว่าไม่มีนัยทางการเมืองที่หมายถึงจะลอดช่องใดหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา ได้ไปนั่งกินไอติมพร้อมกับพูดคุยกับสื่อมวลชน หลังจากนั้นได้ทักทายและถ่ายรูปร่วมกับประชาชน ทีมงาน สส. แม่บ้าน แม่ค้าในโรงอาหาร รวมถึง สส.ของพรรค

นายพิธา ยืนยันว่า ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะวันนี้ตอนเข้ามาก็ได้นำบัตรประชาชนไปแลก ไม่ได้ใช้สิทธิ สส. วันนี้มากินข้าวตามปกติ เพื่อให้ สส.พรรคอุ่นใจว่าหัวหน้าไม่ได้ทิ้ง ยังฟังคำอภิปรายของพวกเขาอยู่ และเป็นกำลังใจในการทำงานให้กับพวกเขา ซึ่งวันนี้ยังมีกำลังใจดี และมีมากพอที่จะแบ่งปันให้คนอื่น พร้อมโชว์บัตรให้ผู้สื่อข่าวเพื่อยืนยัน

“อยากจะส่ง soft Power ไปให้พวกเขา ว่าหัวหน้ากำลังติดตามอยู่ ชื่นชมในการอภิปรายครั้งแรก แล้วยังหวังว่าจะได้รีบกลับมาในสภาโดยเร็ว เพราะมีหลายเรื่องที่พรรคเตรียมไว้” นายพิธา กล่าว

นายพิธา ยืนยันว่า หากสุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นไปตามหน้าที่ แต่อยากจะบอกว่าถ้าเป็นฝ่ายบริหารจะทำงานได้เข้มข้นกว่า ต้องการที่จะเป็นฝ่ายบริหารที่ทำงานด้วยข้อมูลและรวดเร็วให้ได้ผลลัพธ์มากที่สุด และเปลืองภาษีประชาชนให้ได้น้อยที่สุด ใช้งบประมาณไม่ตรงกับความท้าทายของยุคสมัย ฉะนั้นใครที่เคยประทับใจการทำงานเมื่อตอนที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งตอนนี้ก็ต้องตามมารยาททางการเมืองให้พรรคเพื่อไทยจัดไปก่อน สักวันหนึ่งหากเปลี่ยนใจ อยากให้คนรุ่นใหม่ ได้ลองทำงานลองดูว่าจะเป็นอย่างไร ตนก็พร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่ เพราะคิดมาอย่างถี่ถ้วนพอสมควร ได้ศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศมา อยากจะทำงานให้เห็นว่าประเทศไทยไปไกลได้มากกว่านี้ ฉะนั้นหากประทับใจ ความเข้มข้นของฝ่ายค้าน ถ้าเป็นรัฐบาลเข้มข้นกว่าแน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top