DMT ส่งซิก H2/66 ท่องเที่ยวดันปริมาณเดินทางเพิ่มกว่า 1.1 แสนคัน/วัน มั่นใจรายได้โตเกิน 30%

นายศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในไตรมาส 2/66 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 65 มีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยต่อวันรวม 102,165 คัน เพิ่มขึ้น 29% โดยมีรายได้ค่าผ่านทาง 553.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% และกำไรสุทธิ 233.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%

ด้วยผลประกอบการที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และฐานะทางการเงินที่แข่งแกร่ง รวมทั้งการบริหารต้นทุนทางการเงินและผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดประโยชน์สูงสุด บริษัทเบิกใช้วงเงินหมุนเวียน ระยะเวลา 1-3 เดือน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 66 มีภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน จำนวน 850 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เท่ากับ 0.19 เท่า และมีวงเงินหมุนเวียนเพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจการซึ่งยังมิได้เบิกใช้เป็นจำนวนเงินรวม 350 ล้านบาท (31 ธ.ค. 65 : 1,000 ล้านบาท) โดยบริษัทมีความพร้อมในการขยายกิจการโดยเข้าร่วมประมูลโครงการที่ภาครัฐเปิดประมูลเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน (Public-Private Partnership) ในอนาคต

บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 66 เติบโตมากกว่า 30% จากปีก่อน โดยคาดการณ์ปริมาณการจราจรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 110,000 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยอยู่ที่ 85,000 คัน/วัน โดยประเมินแนวโน้มปริมาณจราจรในไตรมาส 3/66 พบว่า ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตและประกอบกิจการ รวมถึงกิจกรรมการเดินทางหลักในภาคการศึกษายังคงส่งผลให้การเดินทางในช่วงเปิดเทอมสูงขึ้นและในฤดูฝนผู้ใช้ทางเลือกที่จะใช้บริการบนทางยกระดับเพื่อความรวดเร็วหลีกหนีการจราจรแออัดบนถนนทั่วไป ด้านการติดตามการระบาดของโควิด-19 ถือว่าได้ถึงระยะสิ้นสุดการระบาดแล้ว และจะไม่มีการจำกัดการเดินทาง การล็อคดาวน์อีกต่อไป จึงเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้ไปกิจกรรมทุกอย่างจะทยอยกลับไปสู่สภาวะปกติเหมือนก่อนการระบาดของโควิด-19

อีกทั้งนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะทำให้อุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง และจะทำให้ปริมาณการเดินทางโดยรวมเพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินจากสายการบินนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีปริมาณการเดินทางที่หนาแน่นใกล้เคียงก่อนการระบาดของโควิด-19 อาจจะทำให้มีการพิจารณาให้กลับมาใช้ อาคาร 1 สนามบินดอนเมืองที่เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ขณะที่การติดตามแผนการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 มีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการแล้ว แสดงให้เห็นว่าการเดินทางด้วยอากาศยานมีแนวโน้มขยายตัวหลังจากนี้ จะส่งผลให้ปริมาณจราจรบนทางยกระดับดอนเมืองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการติดตามปริมาณการเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่อยู่ติดกับทางยกระดับดอนเมืองนั้น พบว่า กลุ่มผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นคนละกลุ่มกับผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมือง อีกทั้งการใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงปัจจุบันพบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมการเดินทางเชื่อมต่อและเข้าถึงสถานี (Feeder) ยังสูงกว่าการใช้ทางยกระดับ คาดการณ์ว่า ยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง และอยู่ในการติดตามพฤติกรรมการเดินทางโดยรอบทางยกระดับดอนเมืองของบริษัทฯ โดยรถยนต์ยังคงมีความจำเป็นในระบบคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้ง นโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการเดินทางด้วยรถยนต์ต่ำลงอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top