นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า SCB CIO ปรับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอตัวลงแบบจัดการได้ (Soft landing) จากเดิมที่มองว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แม้จะยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีกว่าที่จะเข้าสู่อัตราเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายในช่วงปี 68 แต่ด้วยตลาดแรงงานโดยเฉพาะในภาคบริการที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 66-67 มีการชะลอตัวแบบจัดการได้ โดยจากประมาณการล่าสุดของเฟด (มิ.ย. 66) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 66-68 จะเติบโต 1.0% , 1.1% และ 1.8% ตามลำดับ เทียบกับอัตราการเติบโตในระยะยาวเฉลี่ยที่ 1.8%
SCB CIO มองว่าจากแนวโน้มเศรษฐกิจแบบ Soft landing บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงช้า ทำให้การลดดอกเบี้ยของเฟดในรอบนี้จะมีลักษณะค่อยๆ ลดลง (small and slow rate cuts) และน้อยกว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อนๆ โดยเฟดคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ย 100 และ 120 bps. ในปี 67-68 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ปลายปี 68 อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดยังอยู่ในระดับสูงถึง 3.4% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับนี้ในช่วงการลดดอกเบี้ยของเฟดครั้งสุดท้ายเกิดขี้นในปี 51
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อชะลอมากกว่าคาด น่าจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ย เช่น จีนและเวียดนามหรือการหยุดขึ้นดอกเบี้ย เช่น ไทย ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างระหว่างสหรัฐฯ และประเทศ Emerging ยังคงอยู่ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า
จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังค้างอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ประเทศที่มีบริษัทและครัวเรือนที่มีการก่อหนี้สูงจำนวนมาก มีความเสี่ยงภาวะ Balance sheet recession คือภาวะภาคธุรกิจและครัวเรือนกังวลกับหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ราคาสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวช้าหรือปรับลดลงบวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้รายได้ส่วนใหญ่ไม่ถูกนำมาใช้จ่ายบริโภคและลงทุนรวมถึงไม่กู้ยืมเพิ่มเติม แต่เน้นการจ่ายคืนหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงปี 33 และล่าสุดจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ตลาดเริ่มมีความกังวลในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นในช่วงปี 33 ภาคการธนาคารของจีนในปัจจุบันยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงกว่า รวมถึง ราคาสินทรัพย์ของจีนโดยเฉพาะราคาบ้านแม้ฟื้นตัวช้าแต่ไม่ได้ประสบปัญหาราคาร่วงลงรุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น
ด้านมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเป็นภาวะ Soft landing ทำให้ SCB CIO ปรับมุมมองหุ้นกู้ Investment Grade กลับขึ้นมาเป็น Slightly Positive หรือทยอยสะสมได้ แต่ยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield หรือ HY) โดยเฉพาะในตลาดหุ้นกู้จีน เนื่องจากเราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอลงบวกกับท่าทีของเฟดในการหยุดขึ้นดอกเบี้ยและแนวโน้มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 67 จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาว ทยอยลดลงในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ค้างในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิตของหุ้นกู้กลุ่ม HY ยังมีโอกาสขยับสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มธุรกิจที่มีการก่อหนี้สูง เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในจีน
สำหรับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก จากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/66 ส่วนใหญ่ดีกว่าที่คาด โดยยอดขายสินค้าและบริการของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯชะลอตัวลง แต่มีผลประกอบการและกำไรที่ดีกว่าคาดหรือลดลงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นหุ้นของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ในNasdaq 100 ตามมาด้วย S&P500 โดยรวมจะดีกว่าหุ้นกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็ก ใน Russell 2000 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยอดขายสินค้าและบริการชะลอลงเล็กน้อย แต่ผลกำไรยังเติบโตตามอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยวและค่าเงินเยนอ่อนค่า นอกจากจะเติบโตได้มากแล้ว ยังทำได้ดีกว่าคาดอีกด้วย ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป EuroStoxx600 มียอดขายและกำไรหดตัว ตลาดหุ้นเวียดนาม กำไรจากยอดขายสินค้าและบริการของบริษัทยังคงฟื้นตัวช้า แต่แย่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และตลาดหุ้นไทย ยอดขายและผลประกอบการหดตัวและต่ำกว่าคาด แรงฉุดหลักมาจากกลุ่มพลังงาน สินค้าบริโภค และอสังหาริมทรัพย์
SCB CIO มองว่า ความตึงตัวของ Valuation ของตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มปรับลดลงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯกลุ่ม Tech ซึ่งแนะนำสับเปลี่ยนเข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นทนทานความผันผวน (Defensive) ไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันยังได้ปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นเป็น Neutral (หยุดขายหรือถือไว้) หลังตลาดรับรู้การเปลี่ยนกรอบนโยบายการควบคุมการเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี (Yield Curve Control) ไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ในระยะถัดไปยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่นเน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้นและแนวโน้มการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัท
นอกจากนี้ยังคงแนะนำทยอยสะสมหุ้นจีน A-share แนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงในช่วงครึ่งหลังของปี และหุ้นไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายเริ่มลดลง ปรับมุมมองหุ้นเวียดนามเป็น Neutral (หลัง Valuation ปรับความตึงตัวลงและงบออกมาแย่น้อยกว่าคาด) สำหรับหุ้นจีน H-share ยังคงมุมมองเป็น Neutral แม้ Valuation จะถูกลงค่อนข้างมาก แต่ความกังวลประเด็นหุ้นกลุ่มธนาคาร (18% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) ที่ผลประกอบการอาจถูกกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยและการเข้าช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงหุ้นกลุ่ม Tech (37% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด) จากความเสี่ยงด้าน Tech war ที่ยังคงมีอยู่ค่อนข้างสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 66)
Tags: SCB CIO, กำพล อดิเรกสมบัติ, หุ้นกู้, หุ้นไทย