บิทแนนซ์ ฟ้องก.ล.ต.เรียกค่าเสียหายกว่า 324 ลบ. ปมออกใบอนุญาตคริปโทฯ

นายวรวัฒน์ นาคแนวดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด และทีมทนายความ ได้เดินทางไปยังศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล รวมถึงคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในสมัยของนางสาวรื่นวดี กรณีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่สุจริต ออกคำสั่งมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าและละเมิด โดยมีความเสียหายเบื้องต้น 324,803,339.32 บาท ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยอีกวันละ 300,743.83 บาท

คดีดังกล่าวนี้ มี บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องที่ 1 และ นายวรวัฒน์ นาคแนวดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด เป็นผู้ฟ้องที่ 2 สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัท บิทแนนซ์ จำกัด ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล กับทางสำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยมี นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในสมัยของนางสาวรื่นวดี ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบเอกสาร พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต และเสนอแนะความเห็นว่าบุคคลใดควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยอ้างว่า บริษัทฯ และนายวรวัฒน์ ไม่มีความพร้อมด้านเอกสาร ระบบงาน และคุณสมบัติของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นการบิดเบือนต่อข้อเท็จจริง ทั้งที่บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ว่าผ่านการพิจารณาคุณสมบัติตามกฎกระทรวงฯ เอกสารเกี่ยวกับด้านธุรกิจและเอกสารด้านไอที รวมถึงการทดสอบระบบเชื่อมต่อกับทางสำนักงาน ก.ล.ต. IWT1 และได้มีการชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับใบอนุญาตแล้ว จึงทำให้ผู้ฟ้องทั้งสองเชื่อว่าบริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วนและต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ภายในระยะเวลา 150 วัน แต่สำนักงาน ก.ล.ต. กลับไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามกำหนดระยะเวลาตามที่คู่มือประชาชนได้กำหนดไว้ จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ได้ออกกฎในคู่มือประชาชนในภายหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ผ่านการพิจารณาและตรวจสอบเอกสาร ระบบงาน และคุณสมบัติของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่เสร็จสิ้นแล้ว จึงถือเป็นการออกคำสั่งมิชอบ จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 26 และถึงแม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะอ้างว่าออกกฎโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ2561 ก็ตาม ก็ยังถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 5 วรรคแรก ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ซึ่งต้องให้ศาลพิจารณาต่อไปว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพื่อจงใจกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 หรือไม่

นอกเหนือจากการฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ต่อศาลปกครองแล้ว ยังได้มีการร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และจะมีการดำเนินการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการสอบสวน ไต่สวน และพิจารณาดำเนินคดีในกรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตแลประพฤติมิชอบต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการ ก.ล.ต. ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top