รายงานชี้การครองอำนาจนำทางทหารของสหรัฐ ละเมิดกฎหมาย-ระเบียบระหว่างประเทศ

สถาบันซินหัว ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของสำนักข่าวซินหัวได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “ต้นตอ ข้อเท็จจริง และภัยร้ายจากการครองอำนาจนำทางการทหารของสหรัฐ” (Origins, Facts and Perils of U.S. Military Hegemony) โดยระบุว่า สหรัฐ ซึ่งพึ่งพาการครองอำนาจนำทางการทหาร ละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานพื้นฐานที่กำกับดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งยังจงใจดำเนินการขัดกับหลักการและบรรทัดฐานดังกล่าว

รายงานดังกล่าวระบุถึงการก่อตัวของการครองอำนาจนำทางการทหาร สรุปวิธีการที่สหรัฐหยิบยกมาใช้เพื่อรักษาอำนาจ และเจาะลึกถึงภัยร้ายของการครองอำนาจนำเหล่านั้น

สหรัฐเพิกเฉยการห้ามใช้กำลังอย่างผิดกฎหมายหรือการขู่ใช้กำลังเสมอมา ซึ่งนับเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และทำสงครามกับประเทศอธิปไตยอย่างเปิดเผยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การจัดตั้งกองกำลังอวกาศสหรัฐที่เป็นอิสระและการจัดตั้งกองบัญชาการอวกาศ ได้เร่งการทดสอบอาวุธอวกาศและการฝึกซ้อมทางทหารของสหรัฐ ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดการใช้อวกาศโดยสันติอย่างร้ายแรง

นอกจากนั้น เรื่องอื้อฉาวกรณีการทารุณนักโทษอย่างเป็นระบบที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโม เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า กองทัพสหรัฐได้เหยียบย่ำอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีขององค์การสหประชาชาติ (UN)

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพที่เปิดให้ลงนามเมื่อปี 2515 และมีผลบังคับใช้ในปี 2518 โดยมีรัฐภาคี 185 รัฐ และรัฐที่ลงนามอีก 4 รัฐ ทำหน้าที่เป็นรากฐานของการกำกับดูแลระดับโลกสำหรับความมั่นคงทางชีวภาพ

อย่างไรก็ดี สหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐภาคีของอนุสัญญาข้างต้น ได้ทำการทดลองทางชีวภาพที่เป็นอันตรายในนานาประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ และมีส่วนร่วมในการทดลองกับมนุษย์ในประเทศของตนมาเป็นเวลานานแล้ว

อนึ่ง นับตั้งแต่ทศวรรษ 2523 สหรัฐได้ถอนตัวออกจาก 17 องค์กรหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ อาทิ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก องค์การยูเนสโก ความตกลงปารีส แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง และสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้า

รายงานดังกล่าวเสริมว่าสหรัฐฯ มักเลือกปฏิบัติต่อกฎหมาย บรรทัดฐาน และองค์กรระหว่างประเทศ โดยจะปฏิบัติตามเมื่อได้รับผลประโยชน์ และถอนตัวเมื่อไม่มีผลประโยชน์แก่ฝ่ายตน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top