จับตาเอลนีโญ กระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง-เงินเฟ้อสูง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญได้สร้างความกังวลว่าจะส่งผลเสียหายต่อภาคเกษตรไทย และทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยลดลง ดังนั้น จึงควรทำความรู้จักกับเอลนีโญให้มากขึ้น ถอดบทเรียนการเกิดเอลนีโญในอดีต และเตรียมรับมือกับเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ถอดบทเรียนเอลนีโญในอดีต เตรียมรับมืออนาคต

ในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ประกาศแจ้งเตือนปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น และการเกิดเอลนีโญจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศและมรสุมแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก

เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมเปลี่ยนทิศ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังภูมิภาคอเมริกาใต้ จึงทำให้ภูมิภาคอเมริกาใต้มีฝนตกหนักกว่าปกติ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย จะเกิดภัยแล้งและอาจเกิดไฟป่า

ทั้งนี้ ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญซูเปอร์เอลนีโญแล้ว 5 ครั้ง (ปี 2515/16 ปี 2525/26 ปี 2534/35 ปี 2540/41 และ ปี2558/59) และจะเกิดครั้งต่อไปในเดือนต.ค. 2566 ไปจนถึงปี 2567 ซึ่งเอลนีโญจะเกิดทุกๆ 2-7 ปี มีระยะเวลา 9-12 เดือน นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าเอลนีโญจะมาถี่ขึ้น และอุณหภูมิอาจยกกำลังเพิ่มขึ้น

รายงานการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ศึกษาผลกระทบของเอลนีโญในอดีต โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลปี 2522-2556 เผยแพร่เมื่อต้นปี 2560 พบว่า เอลนีโญส่งผลกระทบ ดังนี้

1. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Prices) สูงขึ้น ซึ่งความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่เพียงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น แต่ทำให้ความต้องการใช้ถ่านหิน และน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง นอกจากนี้ ภาคการเกษตรมีความต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อการชลประทาน ซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจัยเหล่านี้จึงผลักดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้น

2. เงินเฟ้อ (Inflation) เกิดจากราคาเชื้อเพลิง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น นอกจากนี้ หากประเทศใดมีสัดส่วนน้ำหนักของสินค้าหมวดอาหารในตะกร้าเงินเฟ้อ (CPI) ค่อนข้างสูง ก็อาจทำให้เงินเฟ้อสูงด้วย

3. อัตราการเติบโตของผลผลิตที่แท้จริง (Real Output Growth) ซึ่งผลกระทบแตกต่างกันไป เช่น

– อาร์เจนตินา ฝนตกอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น

– ออสเตรเลีย ผลผลิตข้าวสาลีลดลงจากความแห้งแล้ง ทำให้ราคาข้าวสาลีโลกสูงขึ้น

– แคนาดา ผลผลิตประมงเพิ่มขึ้นจากอากาศอบอุ่นขึ้น

– ชิลี ฝนตกหนักกระทบการทำเหมืองแร่ทองแดง ทำให้ผลผลิตลดลง

– อินเดีย ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ราคาอาหารและเงินเฟ้อสูงขึ้น

– อินโดนีเซีย ภาคเกษตรได้รับผลกระทบ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ของโลกสูงขึ้น เช่น กาแฟ โกโก้ และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ การทำเหมืองนิกเกิลในอินโดนีเซีย ต้องอาศัยพลังงานน้ำ ด้วยปริมาณฝนที่ไม่เพียงพอ ทำให้การส่งออกนิกเกิลของอินโดนีเซียลดลงและราคาโลกสูงขึ้น

สถานการณ์สินค้าเกษตรไทย ช่วงซูเปอร์เอลนีโญปี 2558

หากย้อนดูผลกระทบต่อไทยในปี 2558 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่เกิดซูเปอร์เอลนีโญ พบว่า ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทยส่วนใหญ่ลดลง โดยข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลง 15.4% 17.6% และ 1.9% ตามลำดับ ขณะที่มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น 3.8% เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังทดแทนในพื้นที่นาที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว และมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในส่วนของราคาสินค้าเกษตร ในปี 2558 สินค้าเกษตรหลายรายการราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือก (เพิ่มขึ้น 30.4%) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพิ่มขึ้น 8.8%) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้น 7.3%) ทุเรียน (เพิ่มขึ้น 36.9%) มังคุด (เพิ่มขึ้น 72.8%) ลำไย (เพิ่มขึ้น 12.6%) และเงาะ (เพิ่มขึ้น 20.3%)

สำหรับสินค้าเกษตรที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ลดลง 5.4%) โดยทั่วไปเมื่อผลผลิตลดลง จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่กรณีปาล์มน้ำมัน ทั้งปริมาณผลผลิตและราคาลดลง มีสาเหตุจากการมีสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่จำนวนมาก และภาวะการค้าชะลอตัวจากผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการส่งออกของไทยในปี 2558 พบว่า สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 10.7% และ 10.8% ตามลำดับ) น้ำมันปาล์ม (ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 61.6% และ 63.9% ตามลำดับ) มังคุด (ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง 8.6% และ 9.4% ตามลำดับ)

ในส่วนของสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 4.4% และ 2.5% ตามลำดับ) ทุเรียน (ปริมาณส่งออกลดลง 3.1% ขณะที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 6.5%) ลำไย (ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 20.7% และ 22.9% ตามลำดับ) เงาะ (ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 73.7% และ 52.7% ตามลำดับ) เนื่องจากมีความต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

โอกาสและความเสี่ยงจากเอลนีโญต่อภาคเกษตรไทย

ในภาพรวม เอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่หากผลกระทบด้านผลผลิตที่ลดลงมีมากกว่าผลกระทบด้านราคาที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้รายได้ลดลง โดยในรายสินค้า อาทิ

– สินค้าข้าว มีการคาดการณ์ว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็พอเพียงสำหรับบริโภคในประเทศและส่งออกได้ ซึ่งอินโดนีเซียมีนโยบายความมั่นคงทางอาหารต้องการสำรองข้าว ขณะที่อินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่ง รวมทั้งระงับการส่งออกข้าวทุกชนิดที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ อีกทั้งเวียดนามมีนโยบายลดปริมาณการส่งออกข้าว โดยจะส่งออกข้าวคุณภาพสูงและไม่เน้นปริมาณ

ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จึงน่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 อินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงกับอินเดีย อนุญาตนำเข้าข้าวจากอินเดีย 1 ล้านตัน เพื่อจัดหาข้าวในกรณีเกิดการหยุดชะงักอันเป็นผลจากเอลนีโญ โอกาสทางการค้าสำหรับไทยหลังจากนี้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อหาช่องทางต่างๆ

นอกจากนี้ ไทยต้องเร่งพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกข้าวของไทย ขยายตัว 20.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

– สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าสุทธิ นำเข้าจากเมียนมาเกือบทั้งหมด คาดว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะลดลง แต่ก็ยังมีมากกว่าช่วงภัยแล้งปี 2562/63 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ไทยนำเข้าข้าวสาลี 1.4 ล้านตัน และข้าวบาร์เลย์ 0.5 ล้านตัน ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 371.9% และ 490.6% ตามลำดับ ซึ่งข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ เป็นสินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ดังนั้น การอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าพืชอาหารสัตว์ จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย ขณะเดียวกัน ต้องดำเนินมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ไปด้วยพร้อมกัน

– สินค้ามันสำปะหลัง มีการคาดการณ์ว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ขณะที่ฝั่งสมาคมผู้ประกอบการเกี่ยวกับมันสำปะหลัง เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะเหลือ 24 ล้านตัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศต้องการ 40 ล้านตัน ซึ่งจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูปไทย

ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกให้ได้ผลผลิตสูง และอาจส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชน้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าว

ทั้งนี้ ในปี 2558 ที่เกิดซูเปอร์เอลนีโญ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์แปรรูป มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 4.4% และ 2.5% ตามลำดับ สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์แปรรูป หดตัว 17.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

– สินค้าน้ำมันปาล์ม มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2566/67 จะลดลงจากสภาพอากาศร้อน ฝนน้อย และทำให้ผลปาล์มมีน้ำหนักลดลง ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีนโยบายลดการส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นจากอุปทานที่ลดลง จึงน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทย หดตัว 37.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

– สินค้าผลไม้ มีการคาดการณ์ว่าทุเรียนและมังคุดจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลำไยจะมีผลผลิตลดลง เนื่องจากภัยแล้งและพื้นที่ปลูกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย ยังมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกผลไม้สดของไทย ขยายตัว 17.8%

– สินค้าน้ำตาล เอลนีโญทำให้อินเดียมีผลผลิตน้ำตาลลดลง อีกทั้งรัฐบาลอินเดียมีมาตรการชะลอการส่งออกน้ำตาล ทำให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น ฟิลิปปินส์ มีมาตรการนำเข้าน้ำตาลทรายเพื่อสำรองไว้ในประเทศ ขณะที่บราซิลจะมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น

สำหรับไทย คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 2566/67 จะลดลง อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย ขยายตัว 17.7%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ มีการตั้งวอร์รูมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเอลนีโญที่มีต่อพืชเกษตร สำหรับผู้ประกอบการ จะต้องติดตามข้อมูลและเตรียมการเพื่อบรรเทาผลกระทบ ตลอดจนมีการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบและรัดกุม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top